Bangpakok Hospital

ปวดหลังอย่าชะล่าใจ สัญญาณที่ไม่ควรมองข้าม

3 พ.ย. 2566


     ปัญหาสุขภาพอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ที่ถ้าให้ใครพูดถึงก็คงหนีไม่พ้นอาการ “ปวดหลัง” โดยสามารถเกิดได้กับทุกช่วงวัย เด็กเล็ก ไปจนถึงเด็กโต หรือที่พบกันหมู่มากนั่นคือ วัยทำงาน และวัยชรา ที่จะมาในรูปแบบอาการปวดหลังที่นำไปสู่การเป็นออฟฟิศซินโดรม หรืออาจนำไปสู่การปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งมีวิธีป้องกัน และแก้ไขได้

 

อาการปวดหลังมีกี่แบบ ?

อาการปวดหลังสามารถแบ่งได้ตามระดับของอาการ ระยะเวลาที่เกิดอาการได้

  • ปวดแบบเฉียบพลัน (Acute) จะมีอาการปวดหลัง ต่อเนื่องน้อยกว่า 6 สัปดาห์ พบได้บ่อยในวัยทำงาน ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้อิริยาบถไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ลักษณะงานก้มๆเงยๆ ยก นั่งหลังงอ เดินหลังโก่ง หรือยกของหนักในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง สำหรับอาการจะรู้สึกปวดบริเวณหลังส่วนล่างด้านใดด้านหนึ่ง หรือปวดทั้งสองด้าน อาการปวดอาจเกิดขึ้นเฉียบพลัน หรือค่อยเป็นทีละน้อย และอาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณก้น การตรวจร่างกายจะพบการจำกัดของการเคลื่อนไหว มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลังมากกว่าปกติ
  • ปวดแบบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute) จะมีอาการปวดหลังต่อเนื่อง 6-12 สัปดาห์ มีสาเหตุมาจากการทำกิจวัตรเดิม ๆ ที่ส่งผลต่ออาการปวดหลังสะสม เช่น นั่งทำงานเป็นประจำ นั่งเก้าอี้ครึ่งก้น หรืออาจส่งผลให้ปวดร้าวไปยังส่วนต่าง ๆ เช่น ขา คอ หรือการเป็นออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น
  • ปวดเรื้อรัง (Chronic) จะมีอาการปวดหลังต่อเนื่องนานกว่า 12 สัปดาห์ มีอาการปวดร้าวไปจนถึงน่องและปลายเท้า อาจเกิดมาจากการกดทับของเส้นประสาท อาการผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้นไปพร้อมกับอาการปวดหลัง เช่น ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะหรืออุจจาระได้ มีอาการชาที่ผิวหลัง ตลอดจนปฏิกิริยาการตอบสนองช้าลง เป็นต้น
  • การมีน้ำหนักตัวมาก การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดการหลังแอ่นมากขึ้น กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนกำลัง กล้ามเนื้อหลังจะออกแรงดึงมากขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย ทำให้เกิดแรงเครียดที่ข้อต่อของกระดูกสันหลังได้ง่าย เมื่อระยะเวลานานเข้าอาจทำให้เกิดภาวะของกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังและกระดูกสันหลังเสื่อมได้เร็ว ทำให้มีอาการปวดหลัง

 

สาเหตุของอาการปวดหลัง

โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นจากการนั่งทำงานที่นานเกินไป ยกของหนัก หรือมีการใช้กล้ามเนื้อส่วนหลังมากเกินไป แต่แท้จริงแล้วสาเหตุอาจเกิดได้มากกว่านั้น รวมไปถึงบริเวณที่ปวดอาจแตกต่างกันออกไป

 

สาเหตุของอาการปวดหลังทั่วไป

  • ปวดหลังหลังจากการยกของหนัก
  • ปวดหลังเพราะอาการเมื่อยล้า เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย
  • ปวดหลังเพราะประจำเดือน

สาเหตุของอาการปวดหลังที่มาจากโรค และระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

  • โรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • โรคข้อกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดการกดทับจากเส้นประสาท หรือเส้นประสาทถูกกดเบียด
  • โรคหมอนรองกระดูก
  • โรคโพรงประสาทหลังตีบแคบ
  • โรคนิ่วในท่อไต กรวยไตอักเสบติดเชื้อ
  • หลอดเลือดแดงใหญ่ในท้องโป่งพอง
  • ปอดติดเชื้อ มีน้ำในช่องเยื้อหุ้มปอด

 

ปวดหลังแต่ละบริเวณบอกโรคได้จริงหรือ ?

ความแตกต่างของอาการปวดหลังแต่ละบริเวณ สามารถบ่งบอกโรคได้ โดยเกิดได้ 3 บริเวณหลัก ๆ คือ

  1. อาการปวดหลังส่วนบน

อาการปวดหลังส่วนบน มักปวดร่วมกับอาการปวดคอ ซึ่งมีสาเหตุมาจากท่าทางการนั่ง เดิน การทำงานที่ไม่เหมาะสมในวันนั้น ๆ เช่น การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ การเล่นมือถือ การนั่งเก้าอี้ไม่เต็มก้น ซึ่งนำมาสู่สาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรม ที่เป็นปัญหาของใครหลาย ๆ คนโดยเฉพาะในวัยทำงาน

  1. อาการปวดหลังช่วงเอว หรือหลังส่วนล่าง

อาการปวดบริเวณนี้ มักเกิดจากสาเหตุหลัก ๆ คือ หมอนรองกระดูก และข้อต้อกระดูกสันหลัง จะปวดตั้งแต่ช่วงเอวจนถึงซี่โครงล่างสุดหรือบริเวณก้นกก มักปวดช่วงที่ร่างกายมีการขยับ หรือสามารถปวดตลอดเวลาขึ้นอยู่แต่ละบุคคล

  1. อาการปวดหลังด้านซ้ายหรือขวา

อาการปวดหลังด้านซ้ายหรือปวดด้านขวา อาจเกิดจากกล้ามเนื้อหลังผิดปกติ อุบัติเหตุต่าง ๆ จากการยกของ การกระแทก หรืออาจเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคไต ระบบทางเดินปัสสาวะ เส้นประสาทถูกกดทับ  หรือ กล้ามเนื้อฉีกขาดก็ได้เช่นกัน

 

หากใครมีอาการปวดหลังแต่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ อย่าพึ่งนิ่งนอนใจ โดยเฉพาะผู้ที่ปวดหลังส่วนใดส่วนหนึ่งนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโดยละเอียด

 

ปวดหลังแบบไหนที่ควรรีบพบแพทย์ ?

อาการปวดหลังที่เกิดขึ้นนั้น มีหลากหลายระดับแตกต่างกันไปตั้งแต่การปวดที่ไม่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การปวดประจำเดือน กล้ามเนื้ออ่อนล้า อาการเหล่านี้สามารถหายเองได้เมื่อเวลาผ่านไปเพียงได้พักผ่อน และลดการกระทำที่หักโหมต่อร่างกายลง

 

แต่อาการปวดหลังที่ไม่สามารถหายเองได้ เช่น ออฟฟิศซินโดรม ปวดหลังเรื้อรัง ควบคู่ไปกับอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ มีปัญหาด้านระบบขับถ่าย อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณการบอกถึงโรคร้ายอยู่ก็เป็นได้

 

อาการปวดหลังที่ควรพบแพทย์สามารถแบ่งได้ 3 ระยะ

  1. การปวดเฉียบพลัน (Acute) เป็นระยะที่สามารถหายเองได้เมื่อเวลาผ่านไป เช่น การปวดประจำเดือน การล้าจากการออกกำลังกาย เป็นต้น
  2. ปวดแบบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute) เป็นระยะที่ได้รับผลกระทบจากภายนอก เช่น การถูกกระแทก การบิดตัวผิดจังหวะ เป็นต้น
  3. ปวดเรื้อรัง (Chronic) เป็นระยะที่ไม่สามารถหายได้ด้วยตัวเอง หรือกลับมาปวดอยู่ตลอด บางครั้งอาจมีเหตุจากปัจจัยภายในที่ไม่สามารถสังเกตได้จากทางกายภาพ โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้
  • มีอาการปวดที่รุนแรง ไม่สามารถพักฟื้นได้ด้วยตนเอง หรือมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
  • ปวดหลังเรื้อรังนานมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป
  • ปวดหลังจนไม่สามารถพักผ่อนได้ตามปกติ ตื่นกลางดึก ทานยาแล้วไม่หาย
  • ปวดร้าวตั้งแต่ช่วงหลังจนถึงช่วงต้นขา หรือลามไปจนถึงเท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง รู้สึกถึงอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา
  • มีอาการขาชา อาการแสบร้อนบริเวณช่วงขาลงไป
  • น้ำหนักลดลง มีไข้ ไอ ปัสสาวะผิดปกติ
  • กระดูกคด หรือหลังค่อมกว่าปกติ

 

รักษาอาการปวดหลังได้อย่างไร ?

อาการปวดหลังที่มีสาเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป มักมีการรักษาที่แตกต่างออกไปเช่นกัน เบื้องต้นในการวินิจฉัยอาการปวดหลัง ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะเป็นการตรวจทั่วไปที่จะช่วยให้แพทย์วิเคราะห์สาเหตุของอาการปวดได้อย่างแม่นยำ สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การเอกซเรย์ (X-Ray) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-SCAN) หรือการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น

 

เมื่อทราบถึงสาเหตุและที่มาของอาการในเบื้องต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่นำมาสู่อาการปวดหลังถือเป็นสิ่งสำคัญ

รวมทั้งหากแพทย์มีการวินิจฉัยออกมาแล้วว่าอาการปวดหลังของเราควรได้รับการรักษา ก็ควรรีบเข้าสู่กระบวนการรักษาที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญโดยทันที เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงจุด ร่างกายกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และลดโอกาสการเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจตามมาในอนาคต

 

โดยการรักษาอาการปวดหลัง แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงวิธีการการรักษาที่เหมาะสม โดยวินิจฉัยจากผลวิเคราะห์เบื้องต้น รวมทั้งอาการของผู้ป่วยในปัจจุบัน การรักษาอาการปวดหลังมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่

  1. การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด
  • การรักษาแบบประคับประคอง คือ การรักษาตามอาการเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในภาวะเรื้อรัง (Chronic) หรือปวดแบบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute) ที่สามารถดีขึ้นได้จากการนอนพัก รับประทานยา หรือกายภาพบำบัด
  • การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง จะช่วยลดความปวดได้ โดยจะต้องผ่านการรักษาแบบประคับประคองมาแล้วในเบื้องต้น
  • การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหลัง เพื่อป้องกันการทรงตัวของผู้ป่วยให้ไม่กระทบการปวดหลัง
  1. การรักษาโดยการผ่าตัด

มักจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการปวดหลังนั้นมีอาการที่ชัดเจน และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น กล้ามเนื้อขาอ่อนแรงทำให้เดินไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะ หรือการขับถ่ายได้ การรักษาที่ผ่าน ๆ มาไม่ได้ผล อาการปวดหลังไม่ลดลงหรือมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

การรักษาอาการปวดหลังด้วยการผ่าตัด

หากการรักษาโดยปกติทั่วไปไม่สามารถทำให้อาการปวดหลังดีขึ้นได้ หรือมีผลจากการวินิจฉัยชัดเจนแล้วว่าต้องได้รับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดนี้จะช่วยทำให้อาการปวดหลังทุเลาลงได้

การผ่าตัดรักษาอาการปวดหลัง มีทั้งผ่าตัดเล็ก และผ่าตัดใหญ่ โดยสามารถแก้อาการปวดหลังเรื้อรังได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับกรณีของผู้ป่วยนั้น ๆ มีหลากหลายวิธี เช่น

  • การผ่าตัดเพื่อลดการกดทับของเส้นประสาท คือ การผ่าตัดเพื่อระบายโพรงเส้นประสาท ลดการตีบของโพรงกระดูกสันหลัง และการกดทับของเส้นประสาท
  • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง คือ การผ่าตัดระบายโพรงเส้นประสาทและใส่เหล็กเชื่อมข้อ เพื่อเอาเนื้อหมอนรองกระดูกสันหลังที่เคลื่อนผิดที่ และกระดูกที่งอกหนาขึ้นออกจากการกดทับเนื้อเยื่อประสาท
  • การผ่าตัดเพื่อยึดเชื่อมกระดูกสันหลัง เพื่อลดอาการคดงอ จัดแนวกระดูกสันหลังให้เป็นแนวปกติ และใช้วัสดุในการช่วยตรึงกระดูก
  • การผ่าตัดส่องกล้อง จะเป็นการผ่าตัดดังที่กล่าวมา แต่เพียงเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไวที่สุด แผลเล็ก และเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดปกติดด้วยวิธีที่ทันสมัย

รูปแบบการผ่าตัด ขนาดของแผล หรือระยะเวลาการดูแลรักษาขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย

 

วิธีป้องกันอาการปวดหลัง

การป้องกันอาการปวดหลังหลากหลายวิธี ทั้งทำได้ด้วยตัวเอง หายเองได้ตามธรรมชาติ พึ่งยาปฏิชีวนะ ไปจนถึงการผ่าตัด แต่เราสามารถป้องกันอาการปวดหลังเบื้องต้นได้ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของเราให้ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ไม่นั่งนานจนเกินไป ไม่ออกกำลังกายหักโหม จากเดิมที่เคยออกกำลังกายหักโหม หรือยกของหนัก ก็ควรหลีกเลี่ยงเพื่อลดอาการปวดหลัง
  • ออกกำลังกายเฉพาะบริเวณ จะช่วยให้กล้ามเนื้อได้ทำงานอย่างถูกต้อง ลดอาการปวดหลังแบบเฉียบพลันหรือกึ่งเฉียบพลันได้
  • การทำกายภาพบำบัด สามารถป้องกันอาการที่นำไปสู่การปวดหลังเรื้อรังได้
  • เลือกรับประทานอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะอาหารที่นำมาซึ่งการเพิ่มของน้ำหนักตัว อาจส่งผลกระทบต่อข้อต่าง ๆ ในร่างกายได้ และทำให้เกิดอาการอักเสบ ปวดหลังร่วมด้วย
  • งดสูบบุหรี่ หลาย ๆ คนอาจมองว่าไม่เกี่ยวกัน แต่แท้จริงแล้วสารนิโคตินในบุหรี่ จะไปส่งผลทำให้หมอนรองกระดูกขาดออกซิเจน และนำมาสู่การปวดหลังได้

อาการปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกท่าน และในขณะเดียวกันก็สามารถปกป้องเพื่อหลีกเลี่ยงได้ด้วยเช่นกัน โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว ปฏิบัติอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ จะช่วยให้ห่างไกลจากอาการปวดหลังได้

 

ข้อควรปฏิบัติเพื่อแก้อาการปวดหลัง

การแก้อาการปวดหลังด้วยตนเอง สามารถนำไปปรับใช้ตามขั้นตอนง่าย ๆ ได้ดังนี้

  • การยกของ : ขณะยกสิ่งของจากพื้น ค่อย ๆ ย่อเข่า อย่าก้มตัวลงไป พยายามรักษาแนวกระดูกสันหลังให้ตรงอยู่เสมอ และให้ของที่ยกชิดลำตัวได้มากที่สุด
  • การยืน : ขณะยืน ขาข้างหนึ่งควรวางบนที่พักขา หรือยืนพักขาสักครู่หนึ่ง สลับกับยืนทิ้งน้ำหนักตัวบนขาสองข้าง หากยืนท่าเดียวนาน ๆ จะส่งผลให้ปวดหลัง หรือการขยับที่ผิดวิธีได้
  • การนั่ง : นั่งเก้าอี้สูงพอดีที่เท้าทั้งสองแตะพื้น เก้าอี้ควรมีพนักให้หลังพิงได้เต็มส่วน ส่วนของพนักพิงหลังควรโค้งนูนเล็กน้อย เพื่อรองรับกับส่วนเว้าของบั้นเอวของผู้นั่ง
  • การนอน : นอนตะแคงให้งอเข่าเล็กน้อย สอดหมอนใต้ระหว่างขา หรือการกอดหมอนข้าง หรือหากนอนหงายมีหมอนรองใต้เข่า เพื่อให้หลังส่วนบั้นเอวราบกับพื้น จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังจากการเดิน ยืน นั่งที่มากเกินไปในแต่ละวัน

 

ทำไมถึงต้องรักษาหลังที่โรงพยาบาลปะกอก ?

โรงพยาบาลบางปะกอก 1 ของเรา มีศูนย์ศัลยกรรมกระดูก และข้อ โรงพยาบาลบางปะกอก ให้บริการดูแลรักษาอย่างทั่วถึง โดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน บุคลากรที่มีประสบการณ์สูง พร้อมทั้งเทคนิคการผ่าตัดและเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย เช่น การผ่าตัดส่องกล้อง เครื่องเอกซเรย์ซีทีสแกน16 สไลด์ (CT Scan 16 Slide)

 

ข้อแนะนำของแพทย์โรงพยาบาลบางปะกอกจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่มีความปลอดภัยสูงสุด และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน ดูแลตลอดตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด การดูและระหว่างผ่าตัด ไปจนถึงหลังผ่าตัด พร้อมทั้งติดตามดูอาการอบ่างใกล้ชิด โดยทีมแพทย์ชำนาญการ และด้วยเทคโนโลยีด้านการผ่าตัดที่ทันสมัยในการเข้ามารักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้ไว และดียิ่งขึ้น

 

โรงพยาบาลบางปะกอกได้รับรองมาตรฐาน HA (Hospital Accreditation) และ JCI (The Joint Commission International) ในการศัลยกรรมผ่านกล้องแผลเล็ก ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการปวดหลังและสามารถวินิจฉัยได้ว่าต้องเข้ารับการผ่าตัด

 

การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยพักฟื้นได้ไวกว่าวิธีปกติ และหลังจากการผ่าตัดยังมีการดูแลหลังการรักษา พร้อมทั้งการกายภาพบำบัดที่ถูกต้อง เพื่อบรรเทาอาการเจ็บ หรืออาการปวดหลังของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี เรามีเครือข่ายมากกว่า 10 สถานโรงพยาบาลที่พร้อมดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม

 

สอบถามข้อมูลหรือแพ็กเกจ  โรงพยาบาลบางปะกอก 1

โทร. 0-2109-1111 , 0-2109-2222

Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.