Bangpakok Hospital

ปัญหาข้อเข่าเสื่อม ไม่ได้เกิดแค่ในผู้สูงอายุ

1 พ.ย. 2566


     หลายคนมักเข้าใจว่าอาการเข่าเสื่อมนั้น จะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งต้องบอกเลยว่านั่นเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ ถึงแม้อายุจะเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ส่งผลให้เกิดอาการเข่าเสื่อม แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ส่งผลให้เกิดอาการเข่าเสื่อมได้

ยิ่งถ้าหากคุณเป็นหนึ่งคนที่มีอาการข้อเข่าฝืดแข็ง ปวดเสียวภายในข้อเข่าบ่อยๆ รวมถึงได้ยินเสียงในข้อเข่า นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณอาจเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีภาวะเข่าเสื่อม

 

เข่าเสื่อมคืออะไร ?

     โรคเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เป็นหนึ่งในรูปแบบของโรคข้ออักเสบ เกิดจากการที่ผิวกระดูกอ่อนภายในข้อ มีรูปร่าง โครงสร้าง และการทำงานเสื่อมสภาพไป ไม่ว่าจะเป็นจากการสึกหรอหรือทรุดตัวเมื่อไม่มีผิวกระดูกอ่อนหุ้มระหว่างข้อแล้ว เนื้อกระดูกแต่ละข้อจึงมาชนกัน ทำให้เกิดอาการปวด ข้อยึด ไม่สามารถยืดขาได้สุด หากทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานโดยที่ไม่รักษา อาการปวดจะยิ่งทวีคูณขึ้น ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นหัวเข่าผิดรูปและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

 

สาเหตุของโรคเข่าเสื่อม

สาเหตุของอาการเข่าเสื่อม แบ่ง ออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรค

  1. สาเหตุแบบปฐมภูมิ (Primary Knee Osteoarthritis) เป็นการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ เกิดจากปัจจัยภายในในแต่ละบุคคล แบ่งออกเป็นสาเหตุต่างๆ ดังนี้
  • อายุ แน่นอนว่าอายุเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมเลยก็ว่าได้ เนื่องจากเมื่ออายุเพิ่มขึ้นกระดูกอ่อนบริเวณข้อ กล้ามเนื้อต่างๆ ก็จะเสื่อมลงตามวัย ซึ่งมีผลมาจากการใช้งานเป็นเวลานาน โดยมากผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมักจะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ปีขึ้นไป
  • เพศ โรคข้อเข่าเสื่อมสามารถพบได้เพศหญิงมากกว่าเพศชาย สูงถึง 2-3 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อที่มีน้อยกว่าในเพศชาย รวมทั้งฮอร์โมน โดยเฉพาะในผู้หญิงอยู่ในวัยหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจะทำให้ผู้หญิงสูญเสียแคลเซียม คอลลาเจน ทำให้กระดูกพรุนและข้ออักเสบได้ง่ายกว่าปกติ
  • กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวมีประวัติเข่าเสื่อม ก็อาจส่งผลให้เรามีโอกาสที่จะเกิดโรคเข่าเสื่อมสูงกว่าคนอื่นๆ เพราะอาจเกิดจากการส่งต่อรูปร่างที่ผิดปกติของเข่านั่นเอง
  • น้ำหนักตัว เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นจะก่อให้เกิดแรงกระทำต่อผิวข้อเข่ามากขึ้น เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเพียง 5 กิโลกรัม จะเพิ่งแรงกระทำต่อเข่ามากกว่าน้ำหนักตัวจริงๆถึง 3 เท่า นั่นหมายความว่าหากเราน้ำหนักจริง 80 กิโลกรัม เข่าของเราจะรับน้ำหนักมากถึง 240 กิโลกรัม จึงไม่น่าแปลกที่เข่าจะเสื่อมสภาพเร็วหากมีน้ำหนักมาก
  • การใช้งานเข่ามากเกินไป การใช้เข่าผิดท่าหรือใช้มากเกินไป เช่น ผู้ที่ทำงานที่จะต้องยืนต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ผู้ที่คุกเข่าหรือนั่งยอง ๆ บ่อย ๆ ก็ส่งผลให้เกิดอาการเข่าเสื่อมได้ เหตุนี้จึงทำให้ผู้ที่เป็นนักกีฬาฟุตบอล นักวิ่งระยะไกล มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่นๆ
  1. สาเหตุแบบทุติยภูมิ (Secondary Knee Osteoarthritis) เป็นสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยภายนอก สามารถทราบถึงที่มาที่ไปได้อย่างชัดเจน เช่น การเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เข่าได้รับบาดเจ็บเรื้อรัง ยิ่งหากมีอาการปวดบริเวณเข่านานเท่าไหร่ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นเท่านั้น

 

อาการและระยะของโรคเข่าเสื่อม

โดยทั่วไปแล้วอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมจะรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โดยสามารถสังเกตอาการข้อเข่าเสื่อมได้ดังนี้

  • มีอาการปวดหัวเข่า

เป็นอาการเริ่มต้นที่สามารถพบได้มากที่สุด ในระยะแรกจะมีอาการปวดแบบเป็นๆ หายๆ ต่อเนื่องนานถึง 6 เดือน สังเกตได้ว่าจะมีอาการปวดเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้เข่ามากๆ เช่นนั่งพับเพียบ นั่งยองนั่งขัดสมาธิหรือการเดินระยะไกล

  • มีอาการเข่าฝืดหรือเข่าติด

อาการนี้มักเกิดขึ้นในตอนเช้า หรือช่วงที่เพิ่งตื่นนอนใหม่ๆ สังเกตได้จากการที่เราไม่สามารถเหยียด งอขาให้ตึงได้ หรือหากเหยียด งอได้ ในระหว่างนั้นจะรู้สึกว่าต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติ รวมทั้งหากไม่เคลื่อนไหวร่างกายสักระยะหนึ่งก็จะสังเกตได้ว่าเข่ากลับมาฝืดและติดเช่นเดิม

  • มีเสียงในข้อเข่า

เมื่ออาการเบื้องต้นผ่านไปสักระยะแล้ว เราจะเริ่มได้ยินเสียงกร็อบแกร็บบริเวณข้อเข่า เป็นผลมาจากการเสียดสีกันของเยื่อบุภายในข้อ หรือการที่เอ็นมีการหนาตัวด้วย โดยมากแล้วผู้ที่มีเสียงในข้อเข่า มักจะมีอาการปวดเข่าร่วมด้วย

  • มีอาการบวม ร้อน และมีจุดกดเจ็บ

หากดูจากภายนอกแล้วเข่ามีอาการบวม เมื่อสัมผัสจะรู้สึกอุ่น อาการนี้เป็นสัญญาณว่ากำลังเกิดการอักเสบภายในเข่าอยู่ รวมทั้งเวลานวดคลำบริเวณเข่าจะมีจุดที่รู้สึกเจ็บกว่าบริเวณอื่นๆ

  • ข้อเข่าผิดรูป

กรณีที่มีอาการตามที่กล่าวข้างต้นมาเป็นเวลานาน เราอาจเริ่มสังเกตได้ว่าเข่ามีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยข้อเข่าอาจโตขึ้น มีกระดูกยื่นออกมาด้านข้าง รวมทั้งสามารถเกิดอาการขาโก่งออกด้านนอกหรือโก่งเข้าด้านในได้เช่นกัน ซึ่งอาการนี้ส่งผลให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากขึ้น

 

จากอาการที่กล่าวมาข้างต้น สามารถแบ่งระยะของโรคเข่าเสื่อมได้ดังนี้

  • ระยะเริ่มต้น สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่อาจมีอาการปวดบ้างเป็นครั้งคราว หากมีการใช้งานหนัก แต่ในระยะนี้ถึงมีอาการปวดก็จะไม่รู้สึกปวดมาก โดยจะรู้สึกตึงๆ บริเวณรอบๆ เข่ามากกว่า
  • ระยะที่สอง ระยะนี้เป็นระยะที่เริ่มเกิดความเสื่อมของข้อเข่าเล็กน้อย โดยกระดูกอ่อนจะเริ่มกร่อนและบางลง เริ่มมีอาการปวดเล็กน้อย เมื่อใช้งานเข่าหนัก รวมทั้งเริ่มมีเสียงในข้อเข่าเกิดขึ้นด้วย
  • ระยะที่สาม ระยะนี้เป็นระยะที่เกิดความเสื่อมของข้อเข่าปานกลาง ผิวบริเวณกระดูกอ่อนเริ่มมีการกร่อนตัวและบางลงอย่างเห็นได้ชัด กระดูกจึงสามารถเสียดสีกันได้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการปวดได้ง่าย เริ่มมีอาการข้อติด และส่งผลต่อการเคลื่อนไหว
  • ระยะสุดท้าย เป็นระยะที่มีการเสียผิวรอบกระดูกข้อต่อไปมากแล้ว ทำให้กระดูกชิดกันมากขึ้น เสียดสีกันมากขึ้น มีอาการปวดเข่าได้ง่ายและปวดมาก จะลุกหรือนั่งก็รู้สึกไม่มั่นคง ผู้ที่อยู่ในระยะนี้มีโอกาสที่จะล้มได้ง่าย เพราะกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเข่าอ่อนแรง

ทางโรงพยาบาลบางปะกอก 1 ขอแนะนำว่าหากท่านมีอาการอยู่ในระยะเริ่มต้น เป็นโอกาสอันดีที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนัก การเปลี่ยนกิริยาบถบ่อยๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อข้อเข่า เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะนี้จะช่วยให้อาการปวดเข่าค่อยๆ หายไป ก่อนที่จะกลายมาเป็นเข่าเสื่อมได้

ในทางกลับกันผู้ที่มีอาการอยู่ในระยะที่สองถึงระยะสุดท้ายทางโรงพยาบาลขอแนะนำให้ทำการปรึกษาแพทย์ถึงแนวทางการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าถูกทำลายมากขึ้นเพราะการปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

 

แนวทางการวินิจฉัยโรคเข่าเสื่อม
เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น ตรวจดูองศาการขยับของข้อเข่า ภาวะข้อหลวม หากพบว่ามีอาการผิดปกติแพทย์จะส่งตัวไปเอกซเรย์ เพื่อดูแนวกระดูกทรุดตัว ดูภาวะข้อกระดูก ก่อนส่งตรวจ MRI ในกรณีพบข้อเข่าหลวม เพื่อตรวจหมอนรองกระดูกและเอ็นเข่า

โดย American College of Rheumatology ได้ตั้งเกณฑ์การวินิจฉัยโรคเข่าเสื่อมไว้ ดังนี้

  1. มีอาการปวดเข่า
  2. เอกซเรย์แล้วแสดงให้เห็นถึงกระดูกงอก
  3. มีข้อสนับสนุน 1 ข้อ ดังต่อไปนี้

3.1 อายุเกิน 50 ปี

3.2 อาการฝืดแข็งในตอนเช้านานน้อยกว่า 30 นาที

3.3 มีเสียงกร็อบแกร็บขณะเคลื่อนไหวเข่า จากการเสียดสีของเยื่อบุภายใน ข้อ หรือเอ็นที่หนาตัวขึ้น ตลอดจนความขรุขระของกระดูกอ่อนที่บุปลายหัว กระดูก

 

รักษาเข่าเสื่อมได้อย่างไร?

การรักษาข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกควรเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเสียก่อน แต่หากเริ่มมีอาการปวดมาก และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแม้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อเลือกวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่เหมาะ

  1. การรักษาด้วยการใช้ยา วิธีนี้โดยมากแล้วจะใช้ในผู้ป่วยเข่าเสื่อมที่อยู่ในระยะที่เริ่มต้น โดยแพทย์จะพิจารณาจ่ายยาแก้ปวดพาราเซตามอลเป็นลำดับแรก หากไม่หายจะมีการจ่ายยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อมาลดอาการปวดและการอักเสบของข้อ รวมทั้งมีการจ่ายยาบำรุงข้อเข่าให้แก่ผู้ป่วย เพื่อปรับโครงสร้างของข้อ เช่น กลูโคซาทีนซัลเฟต ที่มีคุณสมบัติในการซ่อมแซมผิวข้อ ช่วยชะลอโรคเป็นต้น

นอกจากยาสำหรับรับประทานแล้ว ยาที่ใช้ในการรักษาข้อเข่าเสื่อมอาจมาในรูปแบบใช้ภายนอก ยาฉีดได้อีกด้วย

  1. การทำกายภาพบำบัด การทำกายภาพบำบัดเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในระยะแรกไปจนถึงระยะกลาง โดยมีหัวใจสำคัญคือการฟื้นฟูและเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบริเวณหัวเข่า รวมทั้งบรรเทาอาการปวด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้คลื่นอัลตราซาวด์ การใช้เลเซอร์ เป็นต้น
  2. ภูมิคุ้มกันบำบัด (Biological Therapy) เป็นการนำหลักในการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมต่างๆ มาใช้ในการรักษาอาการเข่าเสื่อม ทำได้ 2 วิธีหลักๆ ได้แก่
  • การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม เป็นการฉีดสารไฮยาลูรอนิคแอซิดเข้าไปในข้อเข่า ซึ่งสารนี้มีหน้าที่คล้ายสารหล่อลื่น ช่วยลดอาการปวดและอาการฝืดตึงของข้อเข่า เหมาะสำหรับผู้ที่รักษาด้วยยาแล้วไม่หาย แต่อาการยังไม่รุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัด
  • การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet Rich Plasma) หรือ ที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่าการฉีด PRP เป็นการฉีดสารที่กระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อโดยธรรมชาติเข้าไปบริเวณข้อเข่า การรักษาด้วยวิธีนี้ให้ผลลัพธ์ที่ดี ผลข้างเคียงน้อยเนื่องจากเป็นการใช้เกล็ดเลือดของตนเอง
  1. การผ่าตัด การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมนับเป็นตัวเลือกอันดับสุดท้ายที่แพทย์จะแนะนำให้รักษา เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้ แบ่งออกเป็น 2 วิธีหลักๆ ได้แก่
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total knee replacement: TKR) เป็นการผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าส่วนที่เสื่อมสภาพออกทั้งหมด ก่อนแทนที่ผิวเข่าด้วยข้อเข่าเทียมที่ทำจากโลหะและพลาสติกเข้าไปแทน
  • การผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมบางส่วน (Partial knee replacement: PKR) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อเข่า ก่อนแทนที่ผิวเข่าด้วยข้อเข่าเทียมที่ทำจากโลหะและพลาสติกเข้าไปแทนหมอนรองกระดูกเดิม
  • การผ่าตัดข้อเข่าใช้เวลาเพียง 45-50 นาทีต่อการผ่าเข่าหนึ่งข้างเท่านั้น ก่อนจะกลับมาให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับปกติ

 

ทำไมถึงต้องรักษาเข่าเสื่อมที่โรงพยาบาลปะกอก1 ?

     ศูนย์ศัลยกรรมกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อเข่า ข้อไหล่ และสะโพก ประจำโรงพยาบาลบางปะกอก 1 พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัย และรักษาความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูก กล้ามเนื้อ และไขข้ออย่างครอบคลุม ให้บริการโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์สูงจากทั้งในและนอกประเทศ ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย

ทางโรงพยาบาลยังมีทีมสหวิชาชีพที่มีประสบการณ์คอยดูแลให้บริการทุกท่าน เพื่อช่วยป้องกันและฟื้นฟูทุกอาการเกี่ยวกับไขข้อให้กลับมาแข็งแรงโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นนักกายภาพบำบัด ผู้ชำนาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา พยาบาลวิชาชีพที่มีประสบการณ์สูง

 

โรงพยาบาลบางปะกอก 1 มีความมุ่งมั่นในการเป็นสถานพยาบาลเอกชนชั้นนำที่มีศักยภาพในการรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูก กล้ามเนื้อ และไขข้ออย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ผู้ที่เดินทางมารักษากับเรา ได้กลับออกไปใช้ชีวิตประจำวันด้วยสมรรถภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์อย่างยาวนาน

แพทย์และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลบางปะกอก 1 พร้อมเป็นเพื่อนอยู่เคียงข้างคุณในทุกขั้นตอนการรักษาทุกความผิดปกติเกี่ยวกับไขข้อ ไม่ว่าจะด้วยวิธีผ่าตัด ไม่ผ่าตัด ตลอดจนช่วงเวลาพักฟื้นร่างกายหลังการรักษา

ทางโรงพยาบาลพร้อมที่จะเป็นผู้ช่วยดูแลคุณด้วยความใส่ใจ และพร้อมเป็นกำลังใจให้คุณได้กลับมาเป็นคุณคนใหม่ที่มีร่างกายแข็งแรง สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่วและมั่นใจอีกครั้ง

 

ติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูก กล้ามเนื้อ และไขข้อที่โรงพยาบาลบางปะกอก 1 ได้ผ่านช่องทางดังนี้

สอบถามข้อมูลหรือแพ็กเกจ  โรงพยาบาลบางปะกอก 1

โทร. 0-2109-1111 , 0-2109-2222

Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.