ปวดหลังเรื้อรัง แต่ทำไมร้าวลงขา
อาการป่วยต่างๆ มักมาพร้อมกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะอาการใดก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของสุขภาพได้ทั้งสิ้น วันนี้เราพามารู้จักกับภัยเงียบที่หลายคนไม่รู้ตัว อย่างโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ภัยเงียบที่มักเริ่มต้นด้วยอาการปวดหลังธรรมดาๆ ก่อนนำไปสู่อาการปวดที่มากขึ้น และรุนแรงถึงขั้นอัมพาตได้
หมอนรองกระดูกคืออะไร ?
อวัยวะภายในร่างกายที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ตั้งแต่ต้นคอจนถึงก้นกบ รูปร่างคล้ายหมอนรองศีรษะ จะช่วยในการรองรับน้ำหนักของร่างกาย และรับแรงกระแทกของกระดูกสันหลังจากชิ้นบนลงไปล่าง อีกทั้งยังช่วยให้เราสามารถก้ม โค้ง และเคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่น โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชั้น
- ชั้นรอบนอก : มีลักษณะคล้ายกับยางรถยนต์ ที่จะมีความเหนียว แข็ง และยืดหยุ่นน้อย ช่วยรับแรงที่กดทับลงมา
- ชั้นใน : จะมีความนิ่มคล้ายกับลักษณะของเยลลี่ มีหน้าที่ในการรองรับการกระแทก และกระจายแรงของน้ำหนักออกไปให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือ อาการที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ไม่ว่าจะการที่หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพตามการใช้งาน การเกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกระดูก สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ
- การใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณหลังที่ผิดท่าทาง
- การมีน้ำหนักตัวมากโดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการอ้วนลงพุง
- การใช้งานหนักมากเกินไปการใช้กล้ามเนื้อหลังแทนกล้ามเนื้อขาและต้นขาในการยกของหนัก
- การสูบบุหรี่จะไปลดการส่งออกซิเจนไปยังหมอนรองกระดูก ทำให้เกิดการสลายตัวได้ง่ายขึ้น
- อุบัติเหตุต่างๆ การล้ม การตกจากเก้าอี้ จะทำให้กระดูกได้รับแรงกระแทกอย่างฉับพลัน
- อายุ หมอนรองกระดูกเองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาและการใช้งาน
สัญญาณเตือนว่าเรากำลังเข้าข่ายหมอนกระดูกทับเส้นประสาท
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- อาการชาที่ส่วนขา
- มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
- มีอาการไอ หรือจาม แล้วมีอาการปวดหลังหรือสะโพก นั่นอาจแสดงถึงอาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้
อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นอย่างไร ?
- รู้สึกชา กระดูกทับเส้นจะทำให้รู้สึกว่าบริเวณส่วนใดส่วนนึงมีอาการชากะทันหัน
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงกล้ามเนื้อบริเวณเส้นประสาทถูกกดทับ หรืออยู่ภายใต้เส้นประสาทเดียวกัน
- เจ็บปวดบริเวณที่ถูกกดทับ อาการปวดนี้จะชัดเจนก็ต่อเมื่อเส้นประสาทบริเวณที่ถูกกดทับนั้นโดนกระทบ
หากมีอาการดังกล่าวควรทำอย่างไร ?
ก่อนอื่นต้องแน่ใจก่อนว่าอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดมาจากสาเหตุอื่น โดยอาจอ้างอิงหรือสังเกตจากพฤติกรรมของตนเองที่ผ่านมา หรือเพื่อความแม่นยำควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะบางครั้งอาการเหล่านี้อาจมาจากสาเหตุอื่น และอาจไม่ได้เกี่ยวกับหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
กรณีที่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- มีอาการปวดหลังเรื้อรังติดต่อกันเกิน 3 เดือน
- มีอาการเฉียบพลัน รุนแรงจนไม่สามารถหายเองได้ หรือส่งผลให้เคลื่อนไหวไม่ได้
- มีอาการปวดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ ขาอ่อนแรง รู้สึกชา มีไข้ เป็นต้น
- เกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มีอาการปวดรุนแรง
วิธีการป้องกันโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ปัจจัยอื่นๆ ที่นำมาสู่การเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท นอกจากเรื่องของอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว เราสามารถป้องกันเพื่อเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการได้ทั้งสิ้น เช่น
- หลีกเลี่ยงการนั่งหรือการนอนเป็นเวลานานมากเกินไป
- ระวังในเรื่องของการก้ม เงย หรือการยกของหนัก ไม่ให้ผิดท่าและสามารถปรับสมดุลได้
- ควบคุมน้ำหนัก
- งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
- ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณกระดูกสัน
- ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อรักษาสมดุลของข้อต่อ แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงหรือลน้ำหนักที่มากเกินไป
สอบถามข้อมูลหรือแพ็กเกจ โรงพยาบาลบางปะกอก 1
โทร. 0-2109-1111 , 0-2109-2222