Bangpakok Hospital

เดินตัวเอียง ไหล่ไม่เท่ากันเสี่ยงกระดูกสันหลังคด

17 ก.ค. 2566

         กระดูกสันหลังเป็นส่วนที่ประกอบไปด้วยกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำหน้าที่ในการรับน้ำหนัก และเชื่อมโยงเส้นประสาทจากสมองไปถึงเชิงกราน เมื่อมองจากด้านหน้า กระดูกสันหลังจะเรียงเป็นแนวเส้นตรง หากมองจากด้านข้าง กระดูกสันหลังจะมีความโค้ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ

         แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคกระดูกสันหลังคด เมื่อมองจากภาพถ่ายรังสีแล้ว จะเห็นกระดูกสันหลังคดเอียงทำมุมมากกว่า 10 องศา ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอาการที่ควรพบแพทย์

สาเหตุการเกิดโรคกระดูกสันหลังคด

  • ความผิดปกติของการเจริญเติบโตกระดูกสันหลังแต่กำเนิด (Congenital Scoliosis)เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่ก่อนคลอด โดยเป็นความผิดปกติจากพัฒนาการของทารกในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างของกระดูกสันหลังเพียงด้านเดียว หรือการสร้างของกระดูกสันหลังที่ไม่แยกจากกัน ส่งผลให้เกิดกระดูกสันหลังคดตั้งแต่กำเนิด ซึ่งกระดูกสันหลังคดในลักษณะนี้ก่อให้เกิดความผิดปกติมาก ผู้ป่วยมักจะต้องรีบเข้ารับการรักษา
  • ความผิดปกติของระบบประสาทกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Scoliosis)เป็นกระดูกสันหลังคดที่เกิดจากโรคทางระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อของคนไข้ที่มีความผิดปกติ ทำให้เกิดความไม่สมดุลต่อกระดูกสันหลัง ส่งผลให้กระดูกสันหลังคด ที่พบบ่อย เช่น คนไข้มีอาการขาดเลือดทางสมองแต่กำเนิด (Cerebral Palsy) ทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังคดตอนโตได้ หรือคนไข้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscular Dystrophy) สามารถทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังคดได้
  • กระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis)เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของคนไข้เด็กที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด โดยกลุ่มนี้จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ไม่พบความผิดปกติของกระดูก หมอนรองกระดูก หรือกล้ามเนื้อ
  • ความเสื่อมของข้อกระดูก (Degenerative Scoliosis)เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของคนไข้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด โดยสาเหตุกลุ่มนี้เกิดจากความเสื่อมของข้อกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังด้านซ้ายกับขวาไม่เท่ากัน ทำให้เกิดการทรุดตัวของข้อกระดูกสันหลังด้านซ้ายขวาไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด

กระดูกสันหลังคด ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างไร

  • ผลกระทบจากร่างกายเมื่อแกนกระดูกสันหลังคดเอียง ส่งผลให้ลำตัวเอียงไปตามๆ กัน ยิ่งกระดูกสันหลังเอียงทำมุมมากขึ้น ร่างกายก็จะพยายามปรับตัวโดยการดึงให้แกนตัวกลับตรง ส่งผลให้กระดูกสันหลังปล้องข้างเคียงเกิดการคดเอียงเพิ่มเติมได้ในอนาคตจากปัญหากระดูกสันหลังคดนี้ อาการข้างเคียงที่ทำให้ผู้ป่วยต้องพบเจอเพิ่มเติม คือ กระดูกสันหลังเสื่อมได้เร็วขึ้นกว่าคนทั่วไป เกิดอาการปวดหลังได้ง่าย นอกจากนี้สำหรับผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังช่วงอกคดมาก อาจส่งผลต่อระบบหายใจ ปอดขยายได้น้อยลง ส่งผลให้หายใจไม่เต็มที่
  • ผลกระทบทางจิตใจ เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยจากกระดูกสันหลังคด ทำให้ผู้ป่วยหลายๆ คนเกิดความกังวลและไม่มั่นใจ ด้วยอาการเจ็บป่วยที่ส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอกของผู้ป่วย

สัญญาณเบื้องต้นของปัญหากระดูกสันหลังคดที่สังเกตได้

    ลักษณะอาการและความรุนแรงของโรคกระดูกสันหลังคดนั้นจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน และสิ่งที่ร่างกายแสดงออกมาก็ต่างกันด้วย สำหรับลักษณะเบื้องต้นที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

  • ไหล่ทั้งสองข้างสูงไม่เท่ากัน
  • ลำตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งเวลายืนหรือเดิน
  • สะโพกหรือเชิงกรานทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
  • แผ่นหลังหรือหน้าอกนูนไม่เท่ากัน
  • มองเห็นกระดูกสันหลังคดงอชัดเจน

   โรคกระดูกสันหลังคดเป็นโรคที่สามารถเกิดได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งกระดูกสันหลังคด อาการหรือสัญญาณที่สามารถสังเกตได้ทั่วไปมีหลายอย่าง เช่น สะโพกไม่เท่ากัน ไหล่สองข้างไม่เท่ากัน ลำตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อก้มลงแล้วสังเกตเห็นว่าหลังด้านซ้ายและขวาสูงไม่เท่ากัน เป็นต้นแนวทางในการรักษากระดูกสันหลังคดนั้นขึ้นอยู่กับระดับของอาการ คนไข้ที่มีลักษณะอาการดังกล่าว หรือสงสัยว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังคด สามารถรับการตรวจจากแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ชัดเจน และการวางแผนการดูแลสุขภาพหรือแนวทางการรักษาต่อไป

สอบถามข้อมูลหรือแพ็กเกจได้ที่แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ

โทร. 0-2109-2222 โรงพยาบาลบางปะกอก 1

Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.