Bangpakok Hospital

รู้ทันโรคงูสวัด ภัยเงียบเกิดขึ้นได้กับทุกวัย

11 ก.ค. 2566

     โรคงูสวัด (Herpes zoster / Shingles)

   โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน โดยโรคงูสวัดจะแสดงอาการออกมาเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ

ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคงูสวัด

  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง
  • กลุ่มผู้ป่วยเอชไอวี
  • กลุ่มของผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคเอสแอลอี (SLE) โรคหัวใจ โรคไต โรคมะเร็ง

งูสวัดเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและการฉีดวัคซีนจะช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคงูสวัดได้

สาเหตุเกิดจากอะไร ?

การติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella zoster virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใส ผ่านทางการหายใจ หรือสัมผัสกับตุ่มน้ำใสโดยตรง หลังจากผู้ป่วยหายอีสุกอีใสแล้วเชื้อไวรัสชนิดนี้ยังคงซ่อนตัวอยู่บริเวณปมประสาทของร่างกายไปได้อีกหลายปีโดยไม่แสดงอาการ

หากเมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันลดลงต่ำกว่าปกติ เชื้อไวรัสที่แฝงตัวจะแบ่งตัวทำให้เส้นประสาทอักเสบและมีอาการของโรคงูสวัดได้ทันที

งูสวัดแตกต่างจากโรคอีสุกอีใสอย่างไร ?

โรคงูสวัดแตกต่างจากโรคอีสุกอีใส โดยผื่นหรือตุ่มจะขึ้นพาดเป็นแนวยาว ไม่กระจายตัวไปทั่วร่างกายเหมือนผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส โดยผื่นจะขึ้นตามแนวของเส้นประสาทที่ไวรัสซ่อนตัวอยู่โดยเริ่มจากการเกิดผื่นแดงก่อน แล้วจึงเกิดตุ่มนูนใส บวม แตกและตกสะเก็ดไปในที่สุด

บริเวณที่มักเกิดโรคงูสวัด

  • บริเวณรอบเอว หรือแนวชายโครง
  • บริเวณด้านหลัง
  • บริเวณด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้าและดวงตา

อาการของโรคงูสวัดมีความรุนแรงกว่าอาการของโรคอีสุกอีใส และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์ได้

อาการของโรคงูสวัด เป็นอย่างไร ?

  • มีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อนบริเวณผิวหนังประมาณ 1-3 วัน ก่อนจะมีผื่นแดงขึ้นบริเวณที่ปวด
  • ผื่นสีแดงจะกล้ายเป็นตุ่มน้ำใสเป็นแนวยาว โดยผื่นเรียงตัวกันเป็นกลุ่มหรือตามแนวเส้นประสาทไม่กระจายตัวไปทั่ว
  • ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปลบบริเวณผิวหนัง แม้ถูกสัมผัสเพียงเล็กน้อย
  • ผื่นจะแตกออกเป็นแผล ตกสะเก็ดและหลุดออกจากผิวหนังใน 7-10 วัน
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการงูสวัดแบบหลบในโดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบ ปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท แต่กลับไม่มีผื่นขึ้น

หากมีอาการนี้ให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมอาการของโรคงูสวัดอื่นๆ ที่อาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น

  • มีอาการปวดศีรษะ
  • มีไข้ อ่อนเพลีย
  • ตาสู้แสงไม่ได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด

  • อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia: PHN)โดยพบมากในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยผู้ป่วยจะยังคงมีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผื่นของโรคงูสวัดโรคงูสวัดจะหายแล้ว ในผู้ป่วยบางรายอาการปวดอาจต่อเนื่องยาวนานร่วมเดือน หรือตลอดชีวิต ซึ่งนับว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
  • ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา หรือที่จอประสาทตาอักเสบ (Zoster Ophthalmicus, Corneal ulcer)โรคงูสวัดอาจทำให้เกิดอาการอักเสบที่ตา หรืองูสวัดขึ้นตา ซึ่งเกิดจากผื่นของโรคงูสวัดขึ้นบริเวณดวงตา เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัดที่อาจส่งผลทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา หรือจอประสาทตาอักเสบที่ส่งผลทำให้เกิดตาอักเสบ ตาพร่ามัว และกระทบต่อการมองเห็น ในผู้ป่วยบางรายอาจพบโรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม (Ramsay Hunt syndrome) หรือภาวะใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก จึงควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ความผิดปกติทางระบบประสาท (Neurological problems)โรคงูสวัด อาจทำให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทและสมอง ใบหน้าเป็นอัมพาต หรือทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หรือการทรงตัว
  • ผิวหนังติดเชื้อ (Bacterial infection)โรคงูสวัด อาจทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังได้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาความสะอาดให้ดี

โรคงูสวัด เป็นโรคติดต่อหรือไม่ ?

โรคงูสวัดสามารถติดต่อสู่ผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนโดยผ่านการสัมผัสกับตุ่มน้ำใสที่มีเชื่อไวรัส Varicella zoster รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำที่สัมผัสกับเชื้อโรคงูสวัดแบบแพร่กระจายผ่านทางการหายใจ ดังนั้นจึงควรแยกผู้ป่วยโรคงูสวัดออกจากผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคโดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่กำลังตั้งครรภ์

โรคงูสวัดไวรัสที่ป้องกันได้ โดยการรับฉีดวัคซีน

ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัดในภายหลังเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ หรือเมื่อมีภูมิคุ้มกันต่ำ โรคงูสวัดทำให้เกิดผื่นคัน ตุ่มน้ำใส ที่ทำให้รู้สึกเจ็บแสบ ไม่สบายตัว และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ที่มีอาการของโรคงูสวัดจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อให้หายจากโรคโดยเร็ว

โรคงูสวัด สามารถป้องกันได้โดยการรับการฉีดวัคซีนป้องกัน การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและคงไว้ซึ่งภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของร่างกาย ทั้งนี้บุคคลทั่วไป หรือผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด สามารถเข้ารับคำปรึกษา และฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.