4 กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงจากไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง หลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเนื่องจากจะมีผลทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคประเด็นที่สำคัญก็คือ กลุ่มไหนที่เสี่ยงอันตรายจาก "ไข้เลือดออก" และต้องระวังว่าจะเกิดอาการที่รุนแรงทั้งนี้จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เพื่อหาคำตอบเรื่องดังกล่าวพบว่าไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ โดยมียุงลายเป็นพาหะ
โรคไข้เลือดออกเกิดจากอะไร
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคระบาดชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) โดยมีพาหะเป็นยุงลาย(Aedes aegypti) โดยเฉพาะยุงลายตัวเมียที่ชอบหากินในเวลากลางวัน ผู้ที่ถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่กัดอาจเกิดการติดเชื้อและมีอาการได้ ไวรัสเดงกี่มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสเดงกี่สายพันธุ์ 1, 2, 3 และ 4 โดยทุกสายพันธุ์สามารถทำให้เกิดไข้เลือดออกได้ มนุษย์จึงสามารถติดเชื้อไวรัสเดงกี่ซ้ำได้หลายครั้ง เมื่อติดเชื้อสายพันธุ์ใดแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอด แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นเพียงชั่วคราว
4 กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงจากไข้เลือดออก
- เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน
อาการของโรคไข้เลือดออกเป็นอย่างไร
อาการมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการ สำหรับผู้ที่มีอาการ จะมีอาการที่เด่นชัดคือ ไข้สูง (39-40 องศาเซลเซียส) อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดท้อง (โดยเฉพาะด้านขวาบน) คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีเลือดออกที่ตำแหน่งต่าง ๆ โดยที่พบบ่อยที่สุดคือบริเวณผิวหนัง ลักษณะเป็นจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายตามแขนขาลำตัว ที่พบบ่อยถัดมาคือเลือดกำเดาไหล กรณีมีเลือดออกที่อวัยวะภายใน เช่นทางเดินอาหารจะมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำและซีดอย่างรวดเร็ว ถ้ายิ่งมีเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วยอาการเลือดออกก็จะรุนแรงมากบางรายที่เมื่อไข้ลงแล้วจะมีภาวะช็อคตามมา ภาวะช็อกจากไข้เลือดออกเกิดจากการที่สารน้ำในหลอดเลือดรั่วออกไปนอกหลอดเลือด สามารถทำให้มีความดันโลหิตต่ำ มือเท้าเย็นกระสับกระส่าย ปัสสาวะออกน้อย ซึม ชัก หมดสติหรือหัวใจหยุดเต้นได้
- ไข้สูงเฉียบพลัน
- หน้าแดงมีผื่น
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ
- เลือดออกตามไรฟัน
- เลือดกำเดาไหล
- อาเจียนเป็นเลือด
- ถ่ายเป็นเลือด
ป้องกันไข้เลือดออกได้อย่างไร
- ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ เช่น DEET ติดมุ้งลวดที่หน้าต่าง นอนในมุ้ง รวมถึงป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้ามาหลบซ่อนในบ้าน
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและบริเวณใกล้เคียง ด้วยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ทุกสัปดาห์ ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว รวมทั้งหากพบการระบาดในชุมชนก็ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อฉีดยากันยุงและใส่ทรายอะเบทในแหล่งน้ำขัง
แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้เลือดกับใครบ้าง
- เด็กที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน และอายุมากกว่า 9 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนได้
- เด็กที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน หรือไม่ทราบว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ควรตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีน แม้ว่าผลการตรวจเลือดในปัจจุบันอาจไม่แม่นยำ แต่สามารถใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจได้
- เด็กที่ฉีดมาก่อนแต่ยังไม่ครบ อาจพิจารณาให้ฉีดต่อหรือหยุดฉีดก็ได้ โดยไม่ต้องตรวจเลือด
- ผู้ใหญ่ (อายุ < 45 ปี) อาจพิจารณาฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องตรวจเลือดเพราะมักเคยติดเชื้อมาก่อนแล้ว