วิชั่นซินโดรม โรคฮิตของคนติดจอ
สังคมปัจจุบันหลายคนต้องใช้การสื่อสารทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งเรื่องการเรียนออนไลน์ การประชุม การค้าขาย หรือการทำธุรกิจต่างๆ ผ่านการใช้จอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ท หรือ สมาร์ทโฟน ซึ่งการใช้งานสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการตาแห้ง เคืองตา ปวดรอบกระบอกตา ร่วมกับปวดกล้ามเนื้อ ปวดไหล่ และต้นคอได้ ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านี้เรียกว่า Computer Vision Syndrome (CVS)
Computer Vision Syndrome (CVS)
กลุ่มอาการทางตาและการมองเห็นที่เกิดจากการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการใช้งานของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ชม. โดยไม่หยุด
อาการ
- อาการทางตา เช่น ตาแห้ง แสบเคืองตา ปวดกระบอกตา ตาล้า สู้แสงไม่ได้ โฟกัสได้ช้า หรือ ตาพร่ามัว นอกจากนั้นยังมีรายงานการศึกษาถึงความเสี่ยงของการมีค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับระยะเวลาการใช้คอมพิวเตอร์อีกด้วยอาการทางระบบกล้ามเนื้อ เช่น ปวดต้นคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดศีรษะ
สาเหตุ
- ปัจจัยจากดวงตา พบว่าการทำงานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ ซึ่งเป็นการใช้สายตาระยะใกล้ถึงกลาง โดยธรรมชาติจะต้องเพ่งกล้ามเนื้อตาเพื่อให้มองภาพคมชัด ส่งผลให้กระพริบตาลดลง ทำให้เกิดอาการปวดกระบอกตาและตาแห้งได้ง่าย ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่ดูแลจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเยื่อบุตามีอาการตาแดงได้
- สิ่งแวดล้อมในห้องทำงาน เช่น แสงสว่างในห้องไม่เหมาะสม ระยะห่างจากจอไม่เหมาะสม มีแสงสะท้อนจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ สัญญาณจากหน้าจอที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ภาพไม่คมชัด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ตาต้องเพ่งมากขึ้น เกิดอาการเมื่อยล้า ปวดตา หรือตาพร่ามัวได้
- โต๊ะและเก้าอี้ (Workstation)ที่ไม่ได้ระดับเหมาะสมจะส่งผลต่อท่าทางการนั่ง รวมถึงระดับสายตาในการมองจอคอมพิวเตอร์ อาจจะต้องก้มหรือเงยมากเกินไปจึงปวดเมื่อยหลัง หัวไหล่ และต้นคอได้ง่าย
การป้องกัน
- ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์
- ปรับความสว่างหน้าจอ ไม่จ้ามากเกินไปจนแสบตา
- ปรับสีของตัวอักษร และพื้นหลังให้มองเห็นได้คมชัด โดยมาตรฐานที่แนะนำคือ ตัวอักษรสีเข้ม บนพื้นสว่างจะมองได้สบายที่สุด
- ใช้แผ่นกรองแสงติดหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยลดแสงจ้าและแสงสะท้อนจึงมองภาพได้สบายตา ลดอาการตาล้าได้
- ปรับสถานที่และโต๊ะที่นั่งทำงานคอมพิวเตอร์
- ระยะห่างจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ถึงระดับสายตา ควรมีระยะประมาณ 20-28 นิ้ว
- ปรับระดับหน้าจอให้ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 5-6 นิ้ว เพื่อให้ขณะทำงาน ศีรษะตั้งตรง สายตาอยู่ในท่ามองลงต่ำเล็กน้อย จะเป็นการลดการเปิดกว้างของตาช่วยลดอาการตาแห้ง
- แป้นพิมพ์และเมาส์ ควรอยู่ต่ำกว่าระดับข้อศอกและวางในระยะที่ใกล้ตัวใช้งานได้สบาย ไม่เหยียดแขน สามารถใช้ที่รองข้อมือ เพื่อช่วยลดอาการเมื่อยล้าได้
- ระดับเก้าอี้ที่นั่ง ควรมีเก้าอี้ที่นั่ง ควรปรับให้สามารถวางเท้าบนพื้นเข่าฉาก หรือทำมุม 90 องศากับพื้น
- เก้าอี้ควรมีพนักพิงที่เหมาะสม สามารถนั่งพิงในระดับหลังตรงที่พิงหลังสามารถพยุงกล้ามเนื้อหลังและไหล่ได้
- ที่วางเอกสารควรอยู่ในระดับสายตา ระยะใกล้กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อลดการขยับศีรษะหรือก้มเงยบ่อยๆ ช่วยลดการปรับโฟกัสของตา ลดอาการตาล้า และลดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้
- ปรับแสงสว่างในห้องทำงาน
- ลดแสงสว่างจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ที่เพดาน หรือโคมไฟที่โต๊ะทำงาน รวมทั้งปิดม่านหรือหน้าต่างเพื่อลดแสงสว่างจากภายนอก เนื่องจากแสงจ้าทำให้เกิดแสงสะท้อนที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้มองภาพได้ไม่คมชัด
- ติดโคมไฟที่โต๊ะทำงาน เพื่อช่วยให้มองเอกสารได้สบายตามากขึ้น โดยระดับความสว่างอยู่ในระดับเดียวกับหน้าจอคอมพิวเตอร์
- การพักสายตาระหว่างการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
- ปฏิบัติตามกฎ 20-20-20 คือ ควรมีการพักสายตาหลังจากนั่งทำงานไป 20 นาที โดยพัก 20 วินาที หรืออาจใช้วิธีการหลับตา หรือมองโฟกัสในระยะไกลที่ 20 ฟุต จะเป็นการช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อตาได้
- หลังจากนั่งทำงานต่อเนื่องกัน 2 ชั่วโมง ควรหยุดพัก 15 นาที โดยลุกเดินหรือทำงานที่ไม่ได้โฟกัสหน้าจอจะช่วยลดอาการปวดเมื่อยล้า และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้
- การหยอดน้ำตาเทียม
- ควรหยอดน้ำตาเทียมเป็นประจำ เพื่อช่วยลดอาการตาแห้ง แสบเคืองตา จากการกระพริบตาลดลง เนื่องจากจ้องมองคอมพิวเตอร์ และช่วยให้สบายตามากขึ้น
- ใช้แว่นสายตาที่เหมาะสม
- ควรตรวจวัดสายตาเพื่อดูความเหมาะสมของแว่นที่ใส่อยู่กับค่าสายตา เพราะการสวมแว่นตาที่ผิดไปจากค่าสายตาจริง ทำให้การโฟกัสภาพได้ยาก ภาพไม่คมชัด เกิดอาการปวดกระบอกตาและปวดศีรษะได้
ปัจจุบันโรค Computer Vision Syndromeเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรา หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงได้ หากมีอาการอยู่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ตา หู คอ จมูก
โทร. 0-2109-1111 ต่อ 1433