Bangpakok Hospital

โรคฮิตช่วงเปิดเทอม

12 พ.ค. 2566


         เมื่อถึงเวลาต้องเปิดเทอมต้องไปโรงเรียนอีกครั้ง การได้เจอเพื่อนๆ ได้พูดคุยใกล้ชิดกันและมีการสัมผัสตัวแตะต้องสิ่งต่างๆ โดยไม่ได้ระวังเรื่องของโรคติดต่อ ผู้ปกครองจึงต้องเตรียมรับมือให้ดี โดยต้องใส่ใจเรื่องสุขอนามัย และระวังหมั่นสังเกตอาการหรือสุขภาพของลูกหลานอย่างใกล้ชิด

โรคที่ต้องระวังสำหรับเด็ก

มีโรคติดต่อหลายโรคที่มักระบาดในช่วงเปิดเทอม เพราะที่โรงเรียนอาจมีกิจกรรมให้เด็กๆ ทำร่วมกัน มีการสัมผัสกันบ้าง ความใกล้ชิดในลักษณะนี้ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายและติดต่อกันได้ง่ายๆ เช่น

  • โรคโควิด-19

โรคติดต่อที่เราทุกคนต้องเฝ้าระวังและดูแลตัวเองอย่างเต็มกำลัง การให้ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์บ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่นอกบ้านจึงจำเป็น

อาการ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว อ่อนเพลีย ไอถี่ มีเสมหะ บางรายอาจมีอาการอาเจียน ถ่ายเหลวร่วมด้วย

  • โรคตาแดง

เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายๆ จากการสัมผัสเชื้อโรคโดยตรง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสติดต่อได้โดยการสัมผัสน้ำตา และขี้ตาของผู้ป่วย

อาการ เคืองตา ปวดตา ตาบวม ตาแดง คันตามีน้ำตาไหล และมีขี้ตามากผิดปกติ

  • โรคมือ เท้า ปาก

เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็ก มักระบาดในช่วงฤดูฝน หรือช่วงต่อฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน โรคนี้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ เป็นต้น เกิดจากเชื้อไวรัสในลำไส้แบบเฉียบพลัน และติดต่อโดยการสัมผัสเชื้อโดยตรงทางสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำมูก ตุ่มพอง โรคนี้พบในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต

อาการ มีไข้สูง มีตุ่มแผลอักเสบในปากหรือในคอ มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว

  • โรคอุจจาระร่วง

เป็นภาวะที่มีการถ่ายเหลวผิดปกติ ตั้งแต่ 3 ครั้ง ติดต่อกัน เกิดจากการกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน รวมถึงการจับของเล่นหรือสิ่งสกปรกเข้าปาก

อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย

  • โรคไข้หวัดใหญ่

เป็นโรคที่ระบาดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่เด็กๆ เปิดเทอมพอดี เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดง่ายผ่านลมหายใจ ไอ จาม ละอองน้ำมูก และเสมหะของผู้ป่วย รวมทั้งการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย

อาการ มีไข้สูงติดต่อกันหลายวัน หนาวสั่น ไอจาม อ่อนเพลีย และปวดกล้ามเนื้อ

  • โรคไข้เลือดออก

เป็นโรคที่พบมากในเด็ก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนเพราะมีน้ำขัง ทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยนำเชื้อไวรัสเด็งกี่มาแพร่เชื้อให้ผู้ที่ถูกกัด

อาการ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ผื่น มีจุดแดงตามผิวหนัง มีอาการซึม อ่อนเพลีย รวมถึงมีอาการคลื่นไส้และอาเจียน หากลูกหลานมีไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบพาไปพบแพทย์

การป้องกันโรคนั้น ผู้ปกครองต้องเฝ้าสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ หรือมีอาการใดที่บ่งชี้ได้ว่าอาจเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจ

Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.