Bangpakok Hospital

ไซยาไนด์อันตรายพรากชีวิต

26 เม.ย. 2566

  ไซยาไนด์ (Cyanide)

  สารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีไซยาไนด์ไอออน (CN-) เป็นองค์ประกอบ สารเคมีกลุ่มนี้มีความเป็นพิษสูงมาก มักพบในรูปของสารประกอบโลหะอัลคาไลด์ที่เป็นของแข็งสีขาว และสารประกอบโลหะหนัก พบได้มากในพืชในรูปของกรดไฮโดรไซยานิค สามารถวิเคราะห์หาได้ในรูปของไซยาไนด์ไอออน สามารถวิเคราะห์หาไซยาไนด์ได้โดยใช้วิธีการกลั่น (Distillation Measurement) เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

  ชนิดของไซยาไนด์

  ไซยาไนด์อิสระ (Free Cyanide)

คือ ไซยาไนด์ในรูปของก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ หรือกรดไซยานิค (HCN) และ ไซยาไนด์ไอออน (CN-) สัดส่วนของกรดไซยานิคต่อไซยาไนด์

  ไซยาไนด์กับโลหะอัลคาไลน์

เป็นไซยาไนด์ที่รวมกับโลหะอัลคาไลด์ เช่น โพแทสเซียมไซยาไนด์ (KCN), ไทโอไซยาเนต (SCN–) และแอมโมเนียมไซยาไนด์ (NH4CN) เป็นต้น

  ไซยาไนด์กับโลหะหนัก

เป็นสารประกอบไซยาไนด์กับโลหะหนักชนิดต่าง ๆ โดยไม่มีโลหะอัลคาไลด์เป็นส่วนประกอบ เช่น คอปเปอร์ (II), ไซยาไนด์ (Cu(CN)2), ซิลเวอร์ไซยาไนด์ (AgCN) และซิงค์ไซยาไนด์ (Zn(CN)2) เป็นต้น

  แหล่งกําเนิดไซยาไนด์

  แหล่งกำเนิดในธรรมชาติ

แหล่งกําเนิดไฮโดรเจนไซยาไนด์ในธรรมชาติจะอยู่ในรูปของสารประกอบที่มีลักษณะคล้ายน้ำตาล ที่เรียกว่า อะมิกดาลิน (Amygdalin) ซึ่งพบได้ในผลไม้ ผัก เมล็ด และถั่วต่าง ๆ เช่น แอปริคอท, พีช, ถั่วงอก, ข้าวโพด, มะมวงหิมพานต์, เชอร์รี, มันฝรั่ง และถั่วเหลือง เป็นต้น

พืชต่าง ๆ เหล่านี้มีไซยาไนด์อยู่ในรูปไซยาโนไกลโคไซด์ต่าง ๆ กัน เช่น ในมันสำปะหลังพบในรูปลินามาริน (Linamarin) และโลทอสตราลิน (Lotaustralin) ร้อยละ 80-90 และที่เหลือพบในรูปของไซยาไนด์อิสระหรือไฮโดรเจนไซยาไนด์ ในขณะที่ในแอบเปิ้ลพบในรูปอะมิกดาลิน (Amygdalin) และพรูนาริน (Prunasin) เป็นต้น ในพืชจะมีเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายไซยาโนไกลโคไซด์ต่าง ๆ เหล่านี้ให้เป็นไฮโดรเจนไซยาไนด์ ซึ่งเป็นพิษต่อศัตรูผู้รุกรานได้ เช่น ในมันสำปะหลังจะมีเอนไซม์ลินามาริเนส (Linamarinase) พบในส่วนต่าง ๆ ของพืช สามารถย่อยลินามารินไปเป็นไฮโดรเจนไซยาไนด์ ซึ่งเป็นพิษ

  ไซยาไนด์ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น

ไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นสารเคมีชนิดแรกในกลุ่มไซยาไนด์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น เป็นแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นขมคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ และนำไปใช้เป็นสารเริ่มต้นในการสังเคราะห์สารประกอบไซยาไนด์อื่น ๆ โดยทั่วไปไฮโดรเจนไซยาไนด์มักถูกสังเคราะห์ขึ้นจากการทําปฏิกิริยาของแอมโมเนีย (NH3) และแก๊สธรรมชาติ (แก๊สมีเทน, CH4) ในสภาวะที่มีออกซิเจน ที่อุณหภมู ิประมาณ 1200°C โดยใช้แพลทินัม (platinum, Pt) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ในแต่ละปีอัตราการผลิตไฮโดรเจนไซยาไนด์อยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี โดย 13% ของปริมาณนี้ถูกนำไปสังเคราะห์โซเดียมไซยาไนด์ ซึ่งเกิดจากการทำปฏิกิริยาของไฮโดรเจนไซยาไนด์และโซเดียมไฮดรอกไซด์ แล้วระเหยเอาน้ำออก เรียกกระบวนการผลิตนี่ว่าNeutralization-Wet process และนําไปใช้ในอุตสาหกรรม เช่น การทําเหมืองแร่ทองคํา การชุบโลหะ และเครื่องประดับ ส่วนที่เหลืออีก 87% นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

  พิษของไซยาไนด์

ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง ที่สามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกระบวนการทางธรรมชาติและจากกิจกรรมต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรม โดยไซยาไนด์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก การหายใจ และการดูดซึมผ่านทางผิวหนังและตาผลกระทบจากการได้รับ ไซยาไนด์ แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

  ภาวะเป็นพิษแบบเฉียบพลัน

เป็นอาการที่พบได้ยาก เกิดขึ้นในทันที อาจทำให้เกิดอาการ เช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น

  ภาวะเป็นพิษแบบเรื้อรัง

เกิดจากการได้รับไซยาไนด์ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

  วิธีหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับไซยาไนด์

การหลีกเลี่ยงและลดโอกาสในการสัมผัสกับไซยาไนด์ ดังนี้

  • งดสูบบุหรี่
  • เก็บภาชนะที่บรรจุสารเคมีภายในบ้านให้มิดชิดและเหมาะสม
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ควรใช้ภาชนะรองรับสารเคมีที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งอาจช่วยให้ได้รับสารพิษน้อยลงหากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงลดโอกาสการสัมผัสและการสูดดมลงด้วย
  • ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ไม่ควรนำเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อนไซยาไนด์ออกนอกสถานที่ทำงานหรือนำกลับบ้าน
  • ติดตั้งเครื่องดักจับควัน เนื่องจากไซยาไนด์อาจมาในรูปแบบของควันได้
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องทำงานกับสารเคมี หรือต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของไซยาไนด์
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษสูง เช่น เกษตรกร ช่างเหล็ก ช่างทอง พนักงานที่อยู่ในกระบวนการการผลิตกระดาษ สิ่งทอ ยาง และพลาสติก ผู้ที่ทำงานกำจัดแมลง เป็นต้น ควรไปพบแพทย์และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ
Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.