มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer)
มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer)
มะเร็งลำไส้เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 และเป็นมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ทั่วโลก หากแบ่งตามเพศ พบว่ามะเร็งชนิดนี้พบบ่อยอันดับที่ 3 ในเพศชาย และอันดับที่ 2 ในเพศหญิง ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งจะเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป และจะพบมากสุดในช่วงอายุมากกว่า 80 ปี แต่อย่างไรก็ตามมะเร็งลำไส้ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 30 ปีก็ยังพบได้ 10-20%
ลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ ประกอบด้วย ลำไส้ ไส้ตรงและรูทวารหนัก โดยลำไส้ใหญ่สามารถแบ่งได้อีก เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนขวาซึ่งมีหน้าที่ดูซึมน้ำดูดน้ำ วิตามิน แร่ธาตุ (โซเดียมและโปรแตสเซียม) และน้ำตาลกลูโคสที่เหลือค้างอยู่ในกากอาหารกลับเข้า สู่หลอดเลือดฝอย และลำไส้ส่วนซ้ายหน้าที่หลักคือเป็นที่เก็บและขับถ่ายอุจจาระ ลำไส้ใหญ่ยังหลั่งเยื่อเมือกและเป็นที่อยู่ของแบคทีเรียหลายชนิดที่ทำประโยชน์และไม่เกิดโทษ เช่น แบคทีเรียที่ช่วยสังเคราะห์วิตามินบี 12 และวิตามินเคไส้ตรง หรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หน้าที่หลักคือ การบีบตัวเพื่อช่วยในการขับถ่ายอุจจาระ อาจจะมีการดูดซึมน้ำ เกลือแร่ น้ำตาล และยาได้บางชนิดพบว่า อัตราการเกิดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย 49.66% และ มะเร็งลำไส้ใหญ่ 49.09% โดยตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ลำไส้ซิกมอยด์(Sigmoid colon) 55% ลำไส้ใหญ่ส่วนทอดขึ้นบน (Ascending colon) 23.3% ลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง (Transverse colon) 8.5% ลำไส้ใหญ่ส่วนทอดลงล่าง (Descending colon) 8.1% ซีกั้ม (Caecum) เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนต้นเหนือท้องน้อย 8.0%
สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ชัดเจน แต่พบความสัมพันธ์ของการเกิดมะเร็งลำไส้ได้แก่
- กรรมพันธุ์ พบว่า 20% ของมะเร็งลำไส้ใหญ่สัมพันธ์กับกรรมพันธุ์ โดยพบว่าถ้าบุคคลในครอบครัว ญาติสายตรงลำดับแรก ได้แก่ พ่อ แม่ พี่น้อง มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคในอายุน้อยกว่า 60 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่าคนทั่วไปเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภาวะลำไส้ผิดปกติบางชนิดที่เกิดจากกรรมพันธุ์ก็มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ เช่น ติ่งเนื้อในลำไส้ที่เกิดจากกรรมพันธุ์ Familial Adenomatous Polyposis (FAP), Hereditary nonpolyposis colon cancer(HNPCC), Lynch syndrome หรือยีนส์ Mismatch Repair Gene (MMR)
- อาหาร ปัจจุบันพบว่า อาหารที่มีไขมันสูง เนื้อสัตว์ อาหารปิ้งย่าง และอาหารที่มีกากใยต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ โดยอาหารที่มีไขมันสูง จะเพิ่มการหลั่งน้ำดี เพิ่มแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้อีกด้วย
- โรคลำไส้อื่นๆ ติ่งเนื้อ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือเนื้องอกบางชนิด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้
- ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ การสัมผัสสารก่อมะเร็ง ภาวะอ้วนน้ำหนักเกิด พฤติกรรมเนือยนิ่ง(Sedentary behavior) การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ หรือประวัติการได้รับรังสีรักษาในบริเวณอุ้งเชิงกราน
กลไกการเกิด
การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นไปตามขั้นตอนดังนี้ คือ เมื่อเซลล์ลำไส้ของร่ายกายได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น สารก่อมะเร็ง เซลล์จะเริ่มมีการอักเสบ มีการเพิ่มผิดปกติของเซลล์ เมื่อมีการอักเสบต่อเนื่องเซลล์เหล่านี้จะเริ่มจากการกลายพันธุ์ มีการเพิ่มขึ้นของขนาดเยื่อบุที่เติบโตเร็ว จนทำให้เซลล์เปลี่ยนแปลงจากเดิม เป็นความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Dysplasia) ต่อมาเกิดติ่งเนื้อของเยื่อบุลำไส้แตกกิ่ง (Villous) แล้วกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
การแพร่กระจาย ที่พบบ่อยของมะเร็งลำไส้
- การกระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง เกิดจากเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดกระจายไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียง
- การกระจายผ่านทางเดินน้ำเหลือง พบว่า 60% ของมะเร็งลำไส้เกิดจากการกระจายผ่านต่อมน้ำเหลือง
- การแพร่กระจายตามกระแสเลือด พบว่า 30% ของมะเร็งลำไส้เกิดจากการแพร่กระจายตามกระแสเลือด
- เกิดจากเซลล์มะเร็งหลุดลอกจากลำไส้แล้วแพร่กระจายไปในเยื่อบุช่องท้องและอุ้งเชิงกราน
อาการและอาการแสดงของมะเร็งลำไส้
- ถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายเป็นเลือด หรือ มีประวัติถ่ายอุจจาระผิดปกติ อุจจาระมีลักษณะเป็นมูกปนเลือดก็ได้
- การขับถ่ายที่ผิดปกติ หรือมีนิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป (Bowel habit change) เช่น ท้องผูก ถ่ายบ่อยขึ้น อุจจาระลำเล็กลง ท้องผูกสลับท้องเสีย
- กลุ่มอาการที่แสดงถึงลำไส้อุดตัน เช่น ปวดท้องเรื้อรัง แน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ไม่ถ่ายอุจจาระ ไม่ผายลม
- คลำก้อนได้ที่หน้าท้อง
- อาการทางระบบอื่นๆ เช่น อ่อนเพลียไม่มีสาเหตุ ผู้ป่วยอาจจะมาด้วยอาการอ่อนเพลีย ซีด ภาวะโลหิตจางจากการเสียเลือดเรื้อรังในทางเดินอาหาร หรือมีน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
การวินิจฉัย
ในระยะแรก มะเร็งลำไส้ใหญ่มักจะไม่มีอาการชัดเจน จึงเป็นเรื่องยากที่จะวินิจฉัยได้ในระยะแรกเริ่ม ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการมากแล้ว จึงทำให้ยากต่อการรักษา การตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์ คือ การตรวจร่างกายทั่วไปร่วมกับการตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination) ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (Fecal Occult Blood) คือ การตรวจอุจจาระเพื่อหาเม็ดเลือดแดงที่อาจมีแอบซ่อนอยู่ หรือเป็นการตรวจหาเลือดปริมาณน้อยๆ ที่ปนอยู่ในอุจจาระ (Occult Blood) หากมีเลือดออกในทางเดินอาหารอย่างน้อย 5 มิลลิลิตร สามารถตรวจเจอได้ด้วยวิธีนี้
การตรวจอื่นๆ
- การตรวจเอกซเรย์ ลำไส้ใหญ่โดยการสวนสารทึบรังสีชนิดแป้งแบเรียม (Barium enema) เป็นการตรวจดูพยาธิสภาพและความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ ได้แก่ การตีบตันหรือการอุดตันของลำไส้ใหญ่ ก้อนเนื้องอก หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible sigmoidoscopy) วิธีนี้จะสามารถตรวจได้เฉพาะลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ไม่สามารถเห็นลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด จึงมักตรวจร่วมกับวิธีอื่นๆ เช่น ร่วมกับการทำ Barium enema
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในลำไส้ใหญ่ (Computed tomography colonography)
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) คือ การส่องกล้องเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อดูลักษณะของลำไส้ใหญ่ วิธีนี้เป็นที่นิยมและมีประสิทธิภาพ เป็นวิธีการตรวจลำไส้ใหญ่ที่ละเอียดแม่นยำ เนื่องจากเป็นการส่องกล้องให้เห็นลำไส้ใหญ่ทั้งหมด หากพบติ่งเนื้อที่สงสัยมะเร็ง แพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อรักษา สะกิดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวิเคราะห์ดูผลทางพยาธิสภาพ หากมีเลือดออกในลำไส้ แพทย์ยังสามารถหยุดเลือดที่ออกมาจากก้อนหรือผนังลำไส้ ได้ในการส่องกล้องครั้งเดียว
การรักษา
การรักษาหลัก คือ การผ่าตัด ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง การรักษาแบบมุ่งเป้า และการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในกรณีที่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง มีการวิจัยพบว่า หากรักษามะเร็งลำไส้ในระยะแรกได้ ผู้ป่วยจะอัตราปลอดโรคใน 5 ปี มากกว่า 90% ในกรณีที่มะเร็งเป็นระยะลุกลาม การให้ยาเคมีบำบัดเพื่อประคับประคอง มีประโยชน์ในการช่วยลดเซลล์มะเร็ง เพิ่มคุณภาพชีวิตและช่วยเพิ่มระยะเวลาการรอดชีวิตได้
การป้องกัน
เนื่องจากมะเร็งลำไส้เกิดจากหลายสาเหตุและปัจจัย การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งจึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในหลายด้าน เช่น
- อาหาร
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
- อาหารแปรรูป เช่น อาหารสำเร็จรูป ซีเรียลอาหารเช้า บิสกิต เครื่องดื่มอัดลม โยเกิร์ตรสผลไม้ ซุปสำเร็จรูป อาหารแช่แข็งสำเร็จรูป เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก หมูยอ เบคอน กุนเชียง แฮม และปลาแท่ง เนื่องจาก อาหารเหล่านี้มีสารปรุงแต่ง สารเคมี รวมถึงสารกันบูด ที่เป็นสารก่อมะเร็ง
- อาหารที่ไหม้เกรียม คือ อาหารที่ทำให้สุกโดยให้ความร้อนที่สูง เช่น การปิ้ง การย่าง การรมควัน หรือ การทอดจนอาหารไหม้เกรียม อาหารพวกนี้จะมีสารก่อมะเร็ง Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs)
- เนื้อสัตว์ที่มีสีแดง ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ อาหารเหล่านี้มีไขมันอิ่มตัวสูง มีโอกาสทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้(Probiotics) และกระตุ้นการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง เมื่อนำไปประกอบอาหารเหล่านี้ ไปประกอบอาหาร ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม จะก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งมากขึ้นด้วยเช่นกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยไม่จำเป็น มักมีการเข้าใจผิดว่า ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) คือยาแก้อักเสบ ผู้ป่วยมักซื้อยาเหล่านี้กินเอง จากร้านขายยา เพราะเข้าใจว่าลดการอักเสบ แต่ยาเหล่านี้เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย การกินยาปฏิชีวนะต่อเนื่องโดยไม่จำเป็น จะส่งผลให้ร่างกายเกิดเชื้อดื้อยา และเป็นการทำลายจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ที่มีส่วนในช่วยป้องกันการมะเร็ง
อาหารที่ควรรับประทาน
- ผัก ผลไม้สด อาหารที่มีกากใย ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย ถั่วต่างๆ อาหารที่มีกากใย จะช่วยเพิ่มน้ำหนักอุจจาระ ช่วยลดปริมาณไขมันในลำไส้ใหญ่ เป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ (Probiotics) ซึ่งมีส่วนป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้
- อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาตัวเล็ก งาดำ เต้าหู้ นม ไข่ อาหารเหล่านี้มีวิตามินและแร่ธาตุอยู่มาก เช่น แคลเซียม แมกนีเซียมและวิตามินดี พบว่า มีส่วนช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์และป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง
- อาหารที่มีแบคทีเรียโพรไบโอติกส์สูง (Probiotics) เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ ถั่วหมัก เทมเป้ นมหมัก (Kefir)
ชาหมักคอมบูชา โพรไบโอติกส์จะเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถพบได้ในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร สร้างเกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้ กระตุ้นระบบการย่อยอาหารในร่างกายจากการสร้างเอมไซม์ ลดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- อาหารที่กระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ (Prebiotics) พบได้ในหัวหอม กระเทียม ธัญพืชต่างๆ พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วลูกไก่ ถั่วลันเตา กล้วยหอม แอปเปิ้ล ไฟเบอร์ในผัก เช่น กระหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง บล็อคโคลี และผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น
- ปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต
- การเลิกสูบบุหรี่ พบว่าการสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้และอัตราการตาย
- การจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- การควบคุมน้ำหนัก
- การตรวจสุขภาพตามเกณฑ์อายุเป็นประจำ จะช่วยคัดกรองมะเร็งในระยะแรกเริ่มได้ กรณีมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากตรวจเจอติ่งเนื้อ ก้อนในลำไส้ หรือ ภาวะลำไส้อักเสบ หากรักษาในระยะแรกเริ่มจะช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งลำไส้ในอนาคตได้
วิธีการป้องกันมะเร็งลำไส้เหล่านี้ กรณีที่ยังไม่เกิดโรคจะสามารถช่วยลดอัตราการตายจากมะเร็งลำไส้ได้ 35% และแม้ว่ากว่าเกิดโรคแล้วการปรับพฤติกรรมเหล่านี้ยังคงช่วยลดอัตราการตายได้ถึง 53% กรณีที่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วการปรับพฤติกรรมสามารถช่วยลดอัตราการตายได้ 12%
มะเร็งลำไส้ใหญ่ถึงแม้ว่าจะเกิดได้จากหลายสาเหตุและโรคมีความรุนแรงหากพบในระยะท้าย ทำให้เป็นโรคที่สร้างความวิตกกังวลหากเกิดกับตัวเราหรือคนใกล้ชิด แต่ปัจจุบันด้วยวิทยาการความก้าวหน้าและวิจัย เราค้นพบสาเหตุและการป้องกันได้หลายทาง มะเร็งหลายชนิด ไม่สามารถตรวจหาได้ในระยะแรกเริ่มทำให้ยากต่อการวินิจฉัย เรามักจะตรวจเจอมะเร็งก็ต่อเมื่อมีการกระจาย หรือมีอาการมากแล้ว การรักษามะเร็งในระยะท้ายจึงทำได้เพียงการรักษาแบบประคับประคอง แต่มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่สามารถตรวจพบได้ในระยะแรกเริ่ม ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ร่วมกับการปรับพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง การดูแลสุขภาพ การออกกำลังและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
Reference
- Duan B. Colorectal cancer: An overview. Gastrointestinal Cancers [Internet]. September 30, 2022. Accessed November 8, 2024. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK586003/.
- American Cancer Society. Colorectal Cancer Screening Tests | Sigmoidoscopy & Colonoscopy. www.cancer.org. Published March 4, 2024. https://www.cancer.org/cancer/types/colon-rectal-cancer/detection-diagnosis-staging/screening-tests-used.htm