Bangpakok Hospital

“ไอกรน” โรคที่พ่อแม่ต้องรู้

13 พ.ย. 2567


โรคไอกรน
   เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดอาการไอ ที่มีลักษณะพิเศษคือ ไอซ้อนๆ ติดๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้นจนเด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียง วู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุดๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคไอกรน” บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน
สาเหตุ
   เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) เป็นเชื้อที่เพาะขึ้นใน Bordet Gengou media ซึ่งเป็นเชื้อที่เพาะขึ้นได้ยาก จะพบเชื้อได้ในลำคอ ในส่วน nasopharynx ของผู้ป่วยในระยะ 1-2 อาทิตย์แรก ก่อนมีอาการ ไอเป็นแบบ paroxysmal
อาการและอาการแสดง
อาการของโรคแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
   1) ระยะแรก เด็กจะเริ่มมีอาการ มีน้ำมูก และไอ เหมือนอาการเริ่มแรกของโรคหวัดธรรมดา อาจมีไข้ต่ำๆ ตาแดง น้ำตาไหล ระยะนี้เรียกว่า Catarrhal stage จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้ส่วนใหญ่ยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าไอนานเกิน 10 วัน เป็นแบบไอแห้งๆ
   2) Paroxysmal stage ระยะนี้มีอาการไอเป็นชุดๆ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ไม่มีเสมหะ จะเริ่มมีลักษณะของไอกรน คือ มี อาการไอถี่ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้ง ตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง วู๊ป (whoop) ซึ่งเป็นเสียงการดูดลมเข้าอย่างแรง ในช่วงที่ไอผู้ป่วยจะมีหน้าตาแดง น้ำมูก น้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดที่คอโป่งพอง การไอเป็นกลไกที่จะขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมา ผู้ป่วยจึงจะไอติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถขับเสมหะที่เหนียวออกมาได้ บางครั้งเด็กอาจจะมีหน้าเขียว เพราะหายใจไม่ทันโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ อายุน้อยกว่า 6 เดือน จะพบอาการหน้าเขียวได้บ่อย และบางครั้งมีการหยุดหายใจร่วมด้วย อาการหน้าเขียวอาจจะเกิดจากเสมหะอุดทางเดินหายใจได้ ส่วนใหญ่เด็กเล็กมักจะมีอาการอาเจียนตามหลังการไอเป็นชุดๆ ระยะไอเป็นชุดๆ นี้จะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ได้
   3) ระยะ ฟื้นตัว (Convalescent stage) กินเวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุดๆ จะค่อยๆ ลดลงทั้งความรุนแรงของการไอและจำนวนครั้ง แต่จะยังมีอาการไอหลายสัปดาห์ ระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์
โรคแทรกซ้อน
  1. โรคแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย คือ ปอดอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการตายที่สำคัญของโรคไอกรนในเด็กเล็ก โรคในปอดที่อาจพบได้อีกจะเกิดจากการมีเสมหะเหนียวไปอุดในหลอดลมและถุงลม ทำให้เกิด atelectasis
  2. จากการไอมากๆ ทำให้มีเลือดออกในเยื่อบุตา (Subconjunctival hemorrhage) มี petechiae ที่หน้า และในสมอง
  3. ระบบประสาท อาจมีอาการชัก พบบ่อยในเด็กเล็ก เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมองในขณะที่ไอถี่ๆ และอาการชักอาจเกิดจากมีเลือดออกในสมอง
การป้องกัน
  • การแยกผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วย erythromycin เชื้อจะหมดไปภายใน 5 วัน ดังนั้น จึงแยก
ผู้ป่วย 5 วัน นับจากที่เริ่มให้ยา หรือแยกไว้ 3 สัปดาห์ หลังจากที่เริ่มมีอาการไอแบบ paroxysmal
  • ผู้สัมผัสโรค ทุกคนควรได้รับการติดตามดูว่าจะมีอาการไอเกิดขึ้นหรือไม่อย่างใกล้ชิด โดยติดตา
ไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เด็กที่สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิดควรได้รับ erythromycin (40-50 มก./กก./วัน) 14 วัน ถึงแม้จะได้รับวัคซีนป้องกันครบแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนอาจไม่สูงพอในเด็กบางคน ผู้สัมผัสโรคที่อายุน้อยกว่า 6 ปี ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือได้ไม่ครบ 4 ครั้ง ควรจะเริ่มให้วัคซีนหรือเพิ่มให้ครบตามกำหนดการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ผู้สัมผัสโรคที่เคยได้รับมาแล้ว 4 ครั้ง ให้กระตุ้นเพิ่มอีก 1 ครั้ง ยกเว้นเด็กที่เคยได้รับ booster มาแล้วภายใน 3 ปี หรือเป็นเด็กอายุเกิน 6 ปี ไม่ต้องฉีดกระตุ้นเพิ่ม ส่วนผู้ที่เคยได้มาแล้ว 3 ครั้ง และครั้งที่ 3 เกิน 6 เดือน ควรจะให้ dose ที่ 4 ทันทีที่สัมผัสโรค
การให้วัคซีนป้องกัน
   ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี การได้รับวัคซีนป้องกันไอกรน 4-5 ครั้ง นับเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคไอกรน วัคซีนไอกรนที่มีใช้ขณะนี้เป็นวัคซีนที่เตรียมจากแบคทีเรีย B. pertussis ที่ตายแล้ว (Whole cell vaccine) รวมกับ diphtheria และ tetanus toxoids (Triple vaccine, DTP) ให้ฉีดเข้ากล้าม กำหนดการให้วัคซีนเริ่มเมื่ออายุ 2 เดือน และให้อีก 2 ครั้ง ระยะห่างกัน 2 เดือนคือ ให้เมื่ออายุ 4 และ 6 เดือน โดสที่ 4 ให้เมื่ออายุ 18 เดือน นับเป็นครบชุดแรก (Primary immunization) โดสที่ 5 ถือเป็นการกระตุ้น (booster dose) ให้เมื่ออายุ 4 ปี เด็กที่มีอายุเกิน 7 ปี แล้วจะไม่ให้วัคซีนไอกรน ทั้งนี้เพราะจะพบปฏิกิริยาข้างเคียงได้สูง
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการปรึกษา
โทร. 0-2109-1111 , 0-2109-2222
Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.