โควิด Covid-19
ในปี 2019 มีการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) เกิดมาจากการติดเชื้อจากไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) เป็นโรคที่อุบัติใหม่และ มีการระบาดทั่วโลก ทำให้การเตรียมรับมือกับโรคเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การแพร่ของเชื้อเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากติดเชื้อในทางระบบหายใจ อาการแรกเริ่มผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการแสดงไม่รุนแรง คล้ายคลึง กับโรคติดเชื้อไวรัสของระบบทางเดินหายใจอื่นเช่น มีไข้ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ ไปจนถึงอาการรุนแรง ได้แก่ หอบเหนื่อย หายใจเร็ว ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ ต่อมา มีการคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสโควิดได้ ความรุนแรงของการแพร่ระบาดจึงลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอาการหลงเหลืออยู่ ซึ่งกลุ่มอาการที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดหัว ขาดสมาธิ ผมร่วง และหอบเหนื่อย อาการเหล่านี้มักจะเป็นหลังจากการติดเชื้อโควิดและมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว อาการที่เกิดขึ้น คือ ภาวะลองโควิด
โรคโควิด 19 คือโรคติดต่อซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรนาชนิดที่มีการค้นพบล่าสุด โดยไวรัสและโรคอุบัติใหม่นี้ไม่เป็นที่รู้จักเลย ทำให้ยากต่อการรับมือและการป้องกันได้ทันท่วงที ก่อนที่จะมีการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในเดือนธันวาคมปี2019 ขณะนั้นโรคโควิด19 มีการระบาดใหญ่ไปทั่ว ส่งผลกระทบแก่หลายประเทศทั่วโลก ต้นกำเนิดของไวรัสสันนิษฐานว่าจะมาจากการที่ไวรัสจากสัตว์ตัวกลางระบาดมาสู่คน ผู้ป่วยรายแรกเท่าที่ทราบกัน เริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม และไม่มีความเชื่อมโยงกับตลาดต้องสงสัยในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่ผู้ป่วยหลายรายอาจมีมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนหรือก่อนหน้านั้น มีการเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมในตลาดไปส่งตรวจและพบเชื้อไวรัส และพบมากที่สุดในบริเวณที่ค้าสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม ตลาด เชื่อว่าอาจเป็นต้นกำเนิดของการแพร่ระบาดของไวรัส หรืออาจมีบทบาทในการขยายวงของการระบาดในระยะเริ่มแรก
ไวรัส SARS-CoV-2 เป็นไวรัส RNA มีรูปร่างคล้ายมงกุฎ ซึ่งทำให้ได้ชื่อว่าโคโรนาไวรัส (corona หมายถึง "มงกุฎ" ในภาษาละติน) เชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปาก และดวงตา ก่อนจะแพร่กระจายไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง ไวรัสใช้ส่วนโปรตีนหนาม (spike protein) จับกับเซลล์ในร่างกายเพื่อเข้าสู่เซลล์และแพร่พันธุ์
โรคโควิด19 นี้โดยหลักแล้ว แพร่ที่สำคัญจากคนสู่คน ผ่านทางฝอยละอองจากจมูกหรือปาก ซึ่งเชื้อไวรัสจะถูกขับออกมาเมื่อผู้ป่วย ไอหรือจาม ผู้ป่วยได้รับเชื้อได้จากการ หายใจเอาฝอยละอองเข้าไป หรือจากการสัมผัสเอามือไปจับพื้นผิวที่มีฝอยละอองเหล่านั้นแล้วมาจับตามใบหน้า ผ่านเยื่อบุผิว ปาก จมูก เข้าสู่ร่างกาย ระยะเวลานับจากการติดเชื้อและการแสดงอาการ (ระยะฟักตัว) มีตั้งแต่ 1-14 วัน และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 วัน เกิน 97% ของผู้ป่วยเริ่มมีอาการ ภายใน 14 วัน การเพิ่มจำนวนของไวรัสเกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและในปอด มีงานวิจัยในช่วงแรกระบุว่า การเพิ่มจํานวนของไวรัสได้ในระบบทางเดินอาหาร แต่การติดต่อโดยระบบทางเดินอาหารยังไม่เป็นที่ยืนยัน ช่วงสูงสุดของการแพร่เชื้อน่าจะเกิดขึ้นในช่วงแรกที่แสดงอาการและลดลงหลังจากนั้น การแพร่เชื้อก่อนแสดงอาการอาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม อาการไอ(กลไกหลักในการขับไวรัสออกมา) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแพร่ระบาดเชื้อได้ง่ายและเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดโรคระบาดอย่างฉับพลันทั่วโลก
การตรวจหาโควิด
การตรวจโควิด-19 มีหลากหลายวิธี ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรงและการตรวจหาภูมิคุ้มกัน
- การตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง (Direct Virus Detection)
วิธีนี้จะตรวจเพื่อหาส่วนประกอบของไวรัส SARS-CoV-2 เอง โดยเฉพาะส่วนโปรตีนหรือลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งบ่งบอกถึงการติดเชื้อในขณะนั้น วิธีที่ใช้หลักๆ คือ
- การตรวจ RT-PCR (Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction)
RT-PCR เป็นการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ที่แม่นยำที่สุด โดยตรวจหา RNA ของไวรัสโดยตรง ซึ่งเป็นลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อ วิธีนี้ใช้การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากโพรงจมูกหรือคอ ข้อดีคือมีความแม่นยำสูง แม้จะใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือหนึ่งวันในการประมวลผล ถือเป็นมาตรฐานสากลในการตรวจโควิด - การตรวจ Antigen Test (การตรวจแอนติเจน) หรือ Rapid Test
วิธีนี้ใช้การตรวจหาโปรตีนแอนติเจนบนผิวของไวรัสจากสารคัดหลั่งโพรงจมูกหรือคอ ใช้เวลาเพียง 15-30 นาทีในการแสดงผล อย่างไรก็ตาม ความแม่นยำอาจต่ำกว่า RT-PCR โดยเฉพาะในผู้ติดเชื้อที่มีปริมาณไวรัสต่ำ มักใช้ในการตรวจคัดกรองเบื้องต้นหรือตรวจในพื้นที่ที่จำเป็นต้องรู้ผลเร็ว
- การตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody Test)
การตรวจนี้เป็นการหาภูมิคุ้มกัน (antibodies) ที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งไม่ได้บ่งบอกถึงการติดเชื้อในปัจจุบัน แต่แสดงถึงการมีภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อหรือหลังการฉีดวัคซีน วิธีการตรวจประกอบด้วย
- การตรวจ Antibody Test (การตรวจแอนติบอดี)
เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันชนิด IgM และ IgG ที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อเคยติดเชื้อโควิด วิธีนี้ใช้การเจาะเลือด ข้อดีคือสามารถบอกได้ว่ามีการติดเชื้อในอดีตหรือไม่ โดย IgM มักเกิดขึ้นในระยะเริ่มต้นของการติดเชื้อ ขณะที่ IgG จะเกิดขึ้นในระยะหลังและคงอยู่ในร่างกายได้นาน เหมาะสำหรับใช้ติดตามการแพร่กระจายของเชื้อในชุมชน
ภาวะลองโควิด (Long covid) คืออะไร
ภาวะลองโควิด หรือ ภาวะหลังการติดเชื้อโควิด (Post-COVID-19 condition) คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยโควิดหลังจากการติดเชื้อ โดยปกติมักจะเกิดหลัง 3 เดือน นับจากการติดเชื้อ และอาการเหล่านี้จะคงอยู่อย่างน้อย 2 เดือน โดยที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยสาเหตุจากโรคอื่นได้
จากสถิติ พบว่าภาวะลองโควิดมักจะเกิด 50-85% ของผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิดและมีอาการรุนแรงจนต้องนอนรพ. พบ 10-35% ในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนและมีอาการไม่รุนแรง* และ พบ 8-12% ในผู้ป่วยที่เคยได้รับวัคซีน* มีการศึกษาในประเทศอังกฤษและสก๊อตแลนด์ ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ จนถึง มีนาคม 2567 พบว่า อุบัติการณ์ของลองโควิด คือ 1-8% พบมากในกลุ่มผู้ป่วย ช่วงอายุ 35-65 ปี โดยพบมากในผู้หญิง ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปี ผู้ป่วยที่มีมีโรคประจำตัวร่วม เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคปอดอักเสบเรื้องรัง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง โรคอ้วน ผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด ผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสโควิด และผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดหลายครั้ง
กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อลองโควิด
- เพศหญิง
- มีโรคประจำตัว
- Low socioeconomic status
- มีอาการหลายระบบ
- มีการติดเชื้อโควิดรุนแรงและต้องเข้ารักษาในรพ.
- ไม่ได้รับวัคซีนโควิด หรือ ได้ไม่ครบ
- อาการเหนื่อย ในช่วงแรกของการติดเชื้อ
- ไม่ได้รับยาต้านไวรัสโควิดในช่วงแรกของการติดเชื้อ
- มีการติดเชื้อโควิดซ้ำ
อาการ
อาการที่พบจากภาวะลองโควิด สามารถเป็นได้หลายระบบ มีอาการตั้งแต่ อาการเล็กน้อยจนไปถึง อาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาการที่พบบ่อย โดยแบ่งเป็นกลุ่มอาการได้แก่
1. หัวใจ
1. หัวใจ
อาการ
- เจ็บหน้าอก
- ใจสั่น
พยาธิสภาพ
- การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ (Myocardial inflammation)
- การทำงานที่ผิดปกติของหัวใจ (Cardiac impairment)
- Postural Orthostatic Tachycardia Syndrome (POTS)
อาการ
- อ่อนเพลีย
พยาธิสภาพ
- การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Coagulopathy)
- หลอดเลือดดำอุดตัน (Deep vein thrombosis)
- ความผิดปกติของผนังหลอดเลือดแดง (Endothelial dysfunction)
- เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก (Microangiopathy)
- ลิ่มเลือดขนาดเล็กตามอวัยวะต่างๆ (Microclots)
- โรคลิ่มเลือดอุดกั้นที่ปอด (Pulmonary embolism)
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
3. ระบบทางเดินหายใจและปอด
อาการ
- ไอ
- เหนื่อยหอบ
พยาธิสภาพ
- การแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติ
4. ตับอ่อน
พยาธิสภาพ
- เบาหวาน
- ตับอ่อนอักเสบ
5. ทางเดินอาหาร
อาการ
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้
พยาธิสภาพ
- ภาวะลำไส้แปรปรวน (Gut dysbiosis)
- ทางเดินอาหารเป็นแหล่งเชื้อไวรัสโควิดที่หลงเหลืออยู่ในทางเดินอาหาร
6. ระบบภูมิคุ้มกัน
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmunity)
- Mast Cell Activation Syndrome (MCAS)
7. ระบบประสาทและสมอง
อาการ
- ความรู้คิดบกพร่อง (Cognitive impairment)
- อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
- การนอนหลับที่ผิดปกติ (Disorder sleep)
- ความจำเสื่อม
- เสียงดังในหู (Tinnitus)
พยาธิสภาพ
- ภาวะผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Dysautonomia)
- โรคสมองและไขสันหลังอักเสบเรื้อรัง (Myalgic Encephalomyelitis)
- ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome)
- การอักเสบของระบบประสาท
- เส้นประสาทสมองอักเสบ
- เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง
8. ไต ม้าม และ ตับ
พยาธิสภาพ
- มีอาการอักเสบและถูกทำลาย ของอวัยวะ
9. ระบบสืบพันธุ์
อาการ
- การหย่อนสมมรถภาพทางเพศ
- กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome) มีความถี่และรุนแรงมากขึ้น
- ประจำเดือนมาผิดปกติ
พยาธิสภาพ
- จำนวนอสุจิลดลง
ภาวะลองโควิดนอกจากจะทำให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย ยังพบว่า ลองโควิดจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคต่างๆ มากขึ้นด้วย เช่น เบาหวาน หัวใจวาย หัวใจหยุดเต้น สมองขาดเลือด ลิ่มเลือดอุดที่ปอด และ เพิ่มอัตราการตายมากขึ้น
กลไกการเกิด
เรื่องจากภาวะลองโควิด เป็นภาวะที่เกิดขึ้น ปัจจุบันยังไม่สามารถอธิบายสาเหตุการเกิดได้ชัดเจน ผู้เชี่ยวชาญมีการสันนิษฐานการเกิดได้หลายสาเหตุ สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
กลุ่มแรก เกิดจากตัวไวรัสโควิดที่ยังคงอยู่ในร่างกาย โดยพบว่า ตัวไวรัสทำลายระบบเนื้อเยื่อและอวัยวะในร่างกายมนุษย์และยังกระตุ้นการทำงานของไวรัสตัวอื่นด้วยเช่น ไวรัสEpstein-Barr และ ไวรัสเริม การที่ไวรัสยังอยู่ในเนื้อเยื่อ สันนิษฐานว่า เกิดจากภูมิร่างกายที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ การที่ไวรัสยังสามารถอยู่ในร่างกายได้ก่อให้เกิดภาวะลองโควิดตามมา
กลุ่มที่สอง คือ หลังจากการติดเชื้อโควิด ร่างกายเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติไปของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่บกพร่อง หรือ ผิดปกติ เช่น T-helper cells ทำงานน้อยลง, มีการสร้าง Cytotoxic T cells และหลั่งสาร cytokines ที่มากขึ้น, การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ เหล่านี้ทำให้ เกิดการทำลายเนื้อเยื่อในร่างกาย หรือ เกิดภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง
กลุ่มที่สาม เกิดจากการอักเสบของผนังหลอดเลือดและกระตุ้นให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดจากภูมิคุ้มกัน โดยสองภาวะนี้จะก่อให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือดและก่อให้เกิดการทำร้ายเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในตามมา
การวินิจฉัย
ยังไม่มีการวินิจฉัยใดที่สามารถตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะลองโควิดได้ เนื่องจากการเหล่านี้ไม่เฉพาะเจาะจง และ ไม่ได้เหมือนกันในผู้ป่วยทุกคน การวินิจฉัยคือ การแยกโรคออกจากอื่นๆ โดยแพทย์ โดยปกติ ผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิด เริ่มจากผู้ป่วยที่มีประวัติการติดเชื้อโควิด ระยะเวลา อาการแสดง ความรุนแรงของโรค ประวัติการฉีดวัคซีนโควิด และโรคประจำตัวผู้ป่วย รวมถึงการตรวจร่างกายที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจวัดความดัน การเต้นหัวใจ ไข้ การหายใจ และ การตรวจระดับออกซินเจนในเลือด การตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม ตามอาการของผู้ป่วย เช่น การตรวจร่างกาย การทดสอบความจำ ภาษา ความเข้าใจ และ สุขภาพจิต
การรักษา
ภาวะลองโควิดเป็นกลุ่มอาการที่หลากหลาย จึงยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะ การรักษาจึงรักษาผู้ป่วยที่เกิดขึ้นตามอาการต่างๆ
- อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย การแนะนำผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงมากหรือน้อย จะใช้การวางแผนการรักษาแบบ 4Ps คือ Pacing, Planning, Prioritizing, and Positioning คือการ ทำกิจกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบ มีการวางแผนว่าจะทำอะไร เพื่อหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ไม่จำเป็น การลำดับความสำคัญของกิจกรรมที่จำเป็นก่อนหลังและการจัดท่าของร่างกายที่จะต้องทำในกิจกรรมนั้น สิ่งเหล่านี้ ทำให้มีการใช้พลังงานของร่างกายเท่าที่จำเป็นทำนั้น เพื่อลดการเหนื่อยล้า จากร่างกาย และเมื่ออาการผู้ป่วยเริ่มดีขึ้น ก็สามารถเพิ่มปริมาณและความถี่ในการทำกิจกรรมที่มากขึ้นได้ ในขณะเดียวกันหากอาการแย่ลงก็จำกัดกิจกรรมที่ผุ้ป่วยสามารถทำได้โดยไม่มีอการเหนื่อย
- ระบบหายใจ การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อย หายใจลำบาก คือ การฝึกเทคนิคการหายใจ การใช้ออกซิเจน และ การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ในผู้ป่วยบางกลุ่ม อาจจะมีความจำเป็นในการใช้สเตียรอยด์ การใช้เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดจะช่วยบอกความรุนแรงได้ โดยปกติ หากต่ำกว่า 92 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
กรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาไอเรื้อรัง ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ไอได้ บางกรณีการได้รับพ่นขยายหลอดลมหรือยาพ่นสเตียรอยด์ สามารถช่วยบรรเทาอาการไอได้
ภาวะเจ็บหน้าอก สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยากลุ่มต้านการอักเสบ (NSAIDs) ในผู้ป่วยบางรายการได้รับยาพ่นขยายหลอดลดจะช่วยทำให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น กรณีที่เจ็บหน้าอกมาจากหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ควรส่งต่อผู้ป่วยไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อการประเมินและรักษาที่เหมาะสม
- ระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ ผู้ป่วยที่มีภาวะใจสั่น เจ็บหน้าอก ควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทาง การกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและการใช้ยา เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยควบคุมอาการเหล่านี้ให้ลดลงได้
- ระบบประสาท ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องความจำ การรักษา คือ การฟื้นฟูทางระบบประสาทและสมองคือกระบวนการกระตุ้นร่างกายและสมอง โดยผ่านการฝึกกิจกรรมและการเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสั่งการควบคุมการเคลื่อนไหว ความคิด ความจำและการสื่อสาร โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สมรรถภาพร่างกายและสมองกลับไปใช้งานได้ใกล้เคียงปกติ คงสภาพหรือชะลอความเสื่อมถอยของระบบ การใช้เครื่องช่วยจำ เช่น ปฏิทิน การใช้สมุดจดบันทึกหรือ การจดการวางแผน จะช่วยให้ผู้ป่วยจดจำและวางแผนได้ดีขึ้น
- อาการทางจิต เช่น โรคเครียด โรควิตกกังวล การรักษาได้แก่ การทำจิตบำบัด การบำบัดแบบกลุ่ม การให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ และ การใช้ยา
- การได้รับกลิ่นและรสชาติที่ผิดปกติ สามารถรักษาด้วยการฝึกการชิมและการดมกลิ่น ที่หลากหลาย โดยใช้เวลาหลายสัปดาห์ เพื่อปรับประสาทสัมผัสลิ้มรส และ การดมกลิ่นให้กลับมาดีขึ้น หากการฝึกยังไม่ได้ผล การส่งต่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจจะมีความจำเป็น
- ปัญหาการนอนและการนอนไม่หลับ การรักษา คือ การปรับพฤติกรรมการนอน ให้มีการนอนเป็นเวลา หลีกเลี่ยงกานอนตอนกลางวัน การออกกำลังกายให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงบริโภคสารคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และ นิโคติน โดยเฉพาะก่อนนอน การสอนเทคนิคการผ่อนคลายและลดความเครียด สามารถใช้ได้ในผู้ป่วย
- หากผู้ป่วยปัญหาเรื่อง ตับ ไต ผื่นผิวหนัง หรือ ระบบต่อมไร้ท่อ มีความจำเป็นการได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางตามอาการนั้น รวมถึงการได้รับ การทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด อรรถบำบัด
การป้องกัน
แม้ว่าภาวะลองโควิดยังไม่มีการรักษาที่แน่ชัด แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันภาวะลองโควิด คือ การป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโควิด เช่น การอยู่ในที่มีอาการถ่ายเท หลีกเลี่ยงที่แออัด หรือ มีการใช้เครื่องกรองอากาศที่ได้มาตรฐาน การล้างมือให้สะอาด การสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อ สิ่งต่อมา คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด วัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงและลดการเป็นซ้ำ และในผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้ว มีการวิจัย จากผู้ป่วยจำนวน 620,221 คน พบว่า ผุ้ป่วยโควิดที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 2 ครั้ง มีอัตราการเกิดลองโควิดลดลง 36.9% และ ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกัน 3 ครั้ง มีอัตราการเกิดลองโควิดลดลง 68.7% กรณีที่มีการติดเชื้อโควิดแล้ว มีการวิจัยพบว่า หากผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสโควิด เช่น Molnopiravir* หรือ Nirmatrelvir* ภายใน 5 วันของการติดเชื้อจะช่วยลดการเกิดภาวะลองโควิดได้เช่นกัน
วิธีการป้องกันการติดเชื้อโควิด
- การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
- สวมใส่หน้ากากที่คลุมบริเวณปากและจมูกอย่างมิดชิด
- รักษาระยะห่าง โดยอยู่ห่างจากผู้อื่นประมาณ 1.5-2 เมตร เลี่ยงบริเวณแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- ล้างมือบ่อย ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก นายแพทย์อำนาจ พิศาลจำเริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางปะกอก1
Reference
-
Greenhalgh T, Sivan M, Perlowski A, Nikolich J. Long COVID a clinical update. Lancet 2024; 404: 707–24.
-
Yale Medicine. Long COVID (Post-COVID Conditions, PCC). Yale Medicine. https://www.yalemedicine.org/conditions/long-covid-post-covid-conditions-pcc
-
Davis HE, McCorkell L, Vogel JM, Topol EJ. Long COVID: major findings, mechanisms and recommendations. Nature Reviews Microbiology. 2023;21(3):1-14.