Bangpakok Hospital

สะเก็ดเงิน เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร?

6 พ.ย. 2567


สะเก็ดเงิน (Psoriasis)
   โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ผิวตนเองทำให้เกิดผื่นแดง แห้ง คัน เป็นแผ่นนูนหนา ตกสะเก็ดเป็นสีเงินหรือสีขาวลอกออกเป็นขุยคล้ายรังแคตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ข้อศอก ลำตัว หัวเข่า เล็บและข้อ โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาได้แต่ไม่หายขาดและอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม การพบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคผิวหนังเพื่อรักษาสะเก็ดเงินที่ต้นเหตุ จะช่วยป้องกันและควบคุมโรคให้สงบลงได้
สาเหตุเกิดจากอะไร
   สาเหตุหลักของสะเก็ดเงินเกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายเซลล์ผิวดี โดยเข้าใจผิดว่าเซลล์ผิวดีเป็นแบคทีเรียหรือไวรัสที่รุกรานจากภายนอกจนทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ เกิดการสะสมของเซลล์ผิวหนังทั้งใหม่ เก่า พอกพูนเป็นแผ่นหนากลายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบสะเก็ดเงินที่แห้ง ตกสะเก็ด และลอกออกเป็นขุย โดยสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นให้เกิดสะเก็ดเงินอื่น ๆ ได้แก่
  • พันธุกรรม (Genetics) เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน โดยพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินมีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคสะเก็ดเงินมาก่อน
  • สิ่งแวดล้อม (Environmental factors) เช่น อากาศร้อนหรือเย็น การอยู่ท่ามกลางแสงแดดจ้า การถูกแมลงสัตว์กัดต่อย
  • การติดเชื้อไวรัส เช่น กลุ่มไรโนไวรัส (Rhinoviruses) ไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสเอชพีวี (HPV) ไวรัสตับอักเสบซี (HCV)
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) ในระบบทางเดินหายใจ สาเหตุการเจ็บคอ ทอนซิลอักเสบ
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ความเครียด
  • ยาบางชนิด เช่น ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-blockers) ยาลิเทียม (Lithium)
  • การได้รับบาดเจ็บที่ผิวหนัง หรือผิวหนังอักเสบหลังการผ่าตัด
สะเก็ดเงิน มีอาการอย่างไร
   สะเก็ดเงิน มีอาการแสดงและความรุนแรงของโรคแตกต่างกันตามชนิด อวัยวะที่พบโรค ความรุนแรง ขนาด การกระจายตัวของโรค และความระยะเวลาการดำเนินโรค โดยทั่วไป สัญญาณและอาการของโรคสะเก็ดเงินคือผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
  • ผื่น หรือผิวหนังอักแสบก่อตัวเป็นแผ่นนูนหนา ขอบแผ่นชัดเจน อาจมีรูปทรงหยักโค้ง ผิวหนังด้านบนหลุดลอกออกเป็นขุย แต่เกล็ดผิวหนังด้านล่างจะเกาะติดกันแข็งเป็นแผ่นหนา
  • ผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบหลายขนาด เล็ก-ใหญ่ไม่เท่ากัน ตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าหยอดน้ำ หรือขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือ
  • ผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบที่ทำให้สีผิวเปลี่ยนสี เช่น ผื่นสีม่วง ตกสะเก็ดเป็นขุยสีขาว ผื่นสีแดงหรือชมพู ตกสะเก็ดเป็นขุยสีเงิน
  • ผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบที่ทำให้ผิวแห้ง แตก คัน แสบร้อนบริเวณผิวหนัง
  • ผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบที่หากเกา อาจทำให้เกิดแผลฉีกขาด และมีเลือดไหล
  • ผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบที่มีอาการเจ็บแสบอย่างรุนแรง ปวดบวม และมีไข้ร่วม
  • ผื่น หรือแผ่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ที่เป็น ๆ หาย ๆ 2 - 3 สัปดาห์จนถึงหลายเดือน อาการจึงค่อยทุเลาลงแล้วกลับมาเป็นใหม่
การวินิจฉัยสะเก็ดเงิน มีวิธีการอย่างไร
   แพทย์ผิวหนังจะทำการวินิจฉัยสะเก็ดเงินโดยการซักประวัติ และตรวจสภาพผิวภายนอกรวมทั้งหนังศีรษะ หรือเล็บเพื่อประเมินอาการและหารอยโรค รวมถึงประเมินความรุนแรงของโรค โดนแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
  • การซักประวัติ (Medical history) เช่น การสังเกตเห็นผื่นหรือตุ่มแดงขึ้นเมื่อใด อาการคันหรืออาการแสบร้อนบนผิวหนังเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด ผิวหนังลอกหรือตกสะเก็ดมากน้อยเพียงใด อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นล่าสุด ยาที่ทานเป็นประจำหรือเพิ่งเลิกทาน สบู่หรือแชมพูที่ใช้เป็นประจำ
  • การตรวจร่างกาย (Physical examination) แพทย์จะบันทึกตำแหน่ง ขนาด ลักษณะของผื่น และลักษณะของขุยสะเก็ดเงินที่ลอกออกบนผิวหนัง
  • การตัดชิ้นเนื้อผิวหนัง (Skin biopsy) แพทย์ผิวหนังจะทำการเก็บตัวอย่างผื่นสะเก็ดเงินเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาในห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยและยืนยันโรค โดยแพทย์จะทำการตัดผิวหนังบริเวณตุ่มหรือผื่นคัน หรือบริเวณแผลเรื้อรัง รวมทั้งผิวหนังที่มีสีผิวผิดปกติ หรือสะเก็ดผิวหนังที่หลุดลอก และทำการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อแยกโรค และระบุชนิดของสะเก็ดเงิน
การรักษาสะเก็ดเงิน มีวิธีการอย่างไร
แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงินจากผลการวินิจฉัยชนิดของสะเก็ดเงิน รวมถึงระดับความรุนแรง และอาการข้างเคียงอื่น ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อควบคุม ยับยั้งไม่ให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วเกินไปจนทำให้ผิวหนังลอกและตกสะเก็ด ทั้งนี้ แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาหลายวิธีร่วมกันเพื่อให้ผลในการรักษาที่ดีที่สุด
  • ยาทาภายนอก (Topical medications)
  • การรักษาด้วยการฉายแสงอาทิตย์เทียม (UV Phototherapy)
  • การรักษาด้วยยาชนิดรับประทานและยาฉีด (Oral and injected medications)
ภาวะแทรกซ้อนของสะเก็ดเงิน เป็นอย่างไร
ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน มีความเสี่ยงสูงที่จะมีโรคหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น
  • โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) ที่ทำให้มีอาการปวด บวม และตึงตามข้อ ปลายนิ้ว หรือกระดูกสันหลัง
  • การเปลี่ยนแปลงของสีผิวชั่วคราว (Temporary skin color changes)
  • โรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น โรคตาแดง (Conjunctivitis) เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) หรือม่านตาอักเสบ (Uveitis)
  • โรคอ้วน (Obesity)
  • เบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 diabetes)
  • ความดันโลหิตสูง (High blood pressure)
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • กลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคเซลิแอค (Celiac) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Sclerosis) หรือโรคโครห์น (Crohn’s disease)
  • โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า (Depression)
การป้องกันสะเก็ดเงิน มีวิธีการอย่างไร
สะเก็ดเงินเป็นโรคที่ยังไม่พบวิธีป้องกัน การหมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย สุขภาพผิว การพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสะเก็ดเงินได้ โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
  • ใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ หรือครีมบำรุงผิวทาผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวแห้งเสีย
  • หมั่นทำความสะอาดผิวเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอากาศแห้งและเย็น
  • หลีกเลี่ยงยาที่อาจกระตุ้นการเกิดโรคสะเก็ดเงิน
  • ป้องกันผิวไม่ให้มีบาดแผล ที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อได้
  • รับแสงแดดพอประมาณ ไม่มากเกินไป
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด
สะเก็ดเงิน ติดต่อไหม
สะเก็ดเงิน ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่สามารถติดต่อถึงกันได้เพียงการสัมผัสกับตุ่ม หรือผื่นผิวหนังของผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน
 
   ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างเป็นระบบ ทั้งแบบเดี่ยวหรือแบบผสมผสาน โดยแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อช่วยให้อาการของโรคสะเก็ดเงินและอาการข้างเคียงอื่น ๆ ทุเลาลง พร้อมทั้งช่วยปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย และระบบผิวหนังให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการปรึกษา
โทร. 0-2109-1111 , 0-2109-2222
Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.