Bangpakok Hospital

ปัญหานอนกรน อันตรายกว่าที่คิด

9 ต.ค. 2567

   
   การนอนกรน เกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนถูกอุดกั้น โดยในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณช่องคอส่วนบน ได้แก่ ลิ้นไก่ เพดานอ่อน คอหอย โคนลิ้น และฝาปิดกล่องเสียง จะหย่อนตัวลง ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ เมื่อลมเคลื่อนที่ผ่านบริเวณดังกล่าวจึงเกิดเสียงดังขึ้น กลายเป็นเสียงกรนเจ้าปัญหาในที่สุด
นอนกรน แบ่งได้เป็น 2 ประเภท
  • นอนกรนธรรมดา (snoring)
ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรืออาจเกิดขึ้นเป็นประจำก็ได้ กรณีนี้น่าเป็นห่วงคนข้างกายที่อาจหลับไม่สนิทหรือต้องลุกขึ้นกลางดึกเพราะเสียงดังรบกวน หากหาสาเหตุหรือแก้ไขได้ก็จะเป็นเรื่องดี
  • นอนกรน และมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea; OSA)
กรณีนี้ น่าเป็นห่วงทั้งคนข้างกายและ ตัวผู้นอนเองด้วย เนื่องจากร่างกายมีโอกาสที่จะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดปัญหาในระยะสั้นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และเกิดความผิดปกติต่อระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายในระยะยาวได้
โดยอาการนอนกรนบ่งบอกถึงทางเดินหายใจบางส่วนถูกอุดกั้น ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เราจะทราบได้อย่างไรว่า อาการนอนกรนของเรานั้นมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย
อาการนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
   มีข้อสังเกตคือ หากเป็นกรณีที่นอนกรนแล้วมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย เสียงกรนจะมีลักษณะที่ไม่สม่ำเสมอ โดยผู้ป่วยจะหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ สลับกับเสียงกรน
ในช่วงที่ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือดแดงอาจจะต่ำลงกว่าค่าปกติ มีผลให้หัวใจ ปอด และสมองทำงานหนักมากขึ้น ผู้ป่วยอาจสะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อย ๆ ทำให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกิดปัญหาการนอนหลับและมีอาการทางสุขภาพตามมา เช่น
  • มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ
  • ตื่นนอนด้วยความรู้สึกที่ไม่สดชื่น
  • มีอาการเจ็บคอ คอแห้งเมื่อตื่นนอน
  • มีอาการนอนกระสับกระส่าย (โดยได้ประวัติจากคนใกล้ชิด)
  • รู้สึกเหมือนนอนไม่พอ และมีอาการง่วงมากผิดปกติในช่วงกลางวัน
อันตรายจากการนอนกรน
ปัญหาสุขภาพที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ อาจเป็นปัญหาที่สร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวัน บางคนอาจจะทนไหว และคิดว่าพยายามพักผ่อนให้มากขึ้นอาจจะดีขึ้นเอง แต่อาการเหล่านี้มักไม่หายได้เอง จนกว่าผู้ป่วยจะปรับพฤติกรรมอย่างจริงจังหรือได้รับการรักษาที่ถูกต้อง บางทีอาจก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงต่อสุขภาพได้ เช่น
  • โรคความดันโลหิตสูง
การนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจทำให้มีการขาดออกซิเจน ผู้ป่วยตื่นบ่อยๆ กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้นได้ และเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง ที่เราสามารถรักษาแก้ไขได้
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจทำให้ขาดออกซิเจน ร่างกายจะมีการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นมาเพื่อส่งออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย สลับกับกลับมาเต้นช้าเมื่อออกซิเจนเพียงพอ เมื่อหัวใจเต้นเร็วสลับช้าแบบนี้บ่อยครั้งเวลานอนส่งผลให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะในที่สุด
  • ความต้องการทางเพศลดลง
ปัญหาการนอนกรนเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากการนอนหลับและเกิดการขาดออกซิเจน ส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียดและ ส่งผลต่อการไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศชาย และในเพศหญิงเกิดการทำหน้าที่ผิดปกติทางเพศสัมพันธ์
  • ภาวะความดันเลือดในปอดสูง
ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะความดันเลือดในปอดสูง ส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้การสูบฉีดและแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำได้น้อยลง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
รู้จัก Sleep test หรือ การตรวจวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การตรวจการนอนหลับ เพื่อบันทึกลักษณะความผิดปกติขณะนอนหลับ ซึ่งแพทย์จะนำผลไปวินิจฉัย เพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับต่อไป
  • การตรวจวัดระดับความลึกของการนอนหลับ
  • การตรวจวัดระดับออกซิเจน ลมหายใจ และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและหน้าท้อง
  • การตรวจวัดการทำงานกล้ามเนื้อตา การกัดฟันและกระตุกของขาขณะหลับ
  • ท่านอนและเสียงกรน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการปรึกษา

โทร. 0-2109-1111 , 0-2109-2222

Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.