Bangpakok Hospital

โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบไม่ควรมองข้าม

10 ก.ค. 2567

   
    โรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกน้อยลงจากการสะสมกระดูกน้อยเกินไปในขณะที่กำลังเจริญเติบโต  หรือมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างมากหลังจากเจริญเติบโตเต็มที่แล้วทำให้กระดูกเปราะบางไม่สามารถรับน้ำหนัก และแตกหักตามมาอาจเกิดมาจาก 2 ปัจจัย คือ  พันธุกรรมและการดำเนินชีวิตที่มีผลต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้เร็วขึ้น  โดยปกติมักพบมากในเพศหญิง แต่เพศชายสามารถพบได้  20 เปอร์เซ็นต์ โรคนี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ
โรคนี้สำคัญอย่างไร
     โรคกระดูกพรุนเป็นลักษณะบ่งบอกถึงความชรา พบมากในหญิงสูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้นโอกาสเป็นโรคนี้ก็มากขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อกระดูกบางถึงระดับที่ไม่สามารถรับน้ำหนัก หรือแรงกระแทกได้ก็จะเกิดกระดูกหัก  ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในขณะทำกิจวัตรประจำวันตามธรรมดาหรือเกิดขึ้นเมื่อได้รับอุบัติเหตุหกล้ม  แม้ว่าอุบัติเหตุนั้นจะดูเล็กน้อยก็ตาม กระดูกที่มักจะหัก ได้แก่ กระดูกต้นขา  และกระดูกข้อมือ
อันตรายจากกระดูกหัก
เป็นผลอันร้ายแรงที่เกิดขึ้นหลังจากกระดูกพรุน กรณีเกิดกระดูกสันหลังหักจะมีความเจ็บปวดมากจำเป็นต้องนอนพักในเตียงนานเป็นเดือน
  • เมื่อขยับตัวจะเจ็บมากและจะทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยความลำบาก
  • หลังจากนั้นหลังจะโก่ง ค่อมลง ส่วนกระดูกต้นขามักจะหักตอนหกล้ม
  • ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะได้รับการผ่าตัดเพื่อใส่เหล็กที่กระดูกต้นขาใหม่แทนส่วนที่หัก บางคนไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัด อาจเป็นเพราะมีโรคประจำตัวที่ทำให้มีความเสี่ยงในการผ่าตัดสูงขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยกระดูกต้นขาหักทั้งที่ได้รับการผ่าตัดและไม่รับการผ่าตัดมากกว่าครึ่ง จะไม่สามารถเดินได้อีกต่อไป
  • จะต้องใช้ชีวิตอยู่แต่บนเตียง และต่อมามักจะเสียชีวิตเนื่องจากมีโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ปอดบวม มีแผลกดทับที่สะโพก สำลักอาหาร เป็นต้น ผู้ป่วยที่ไม่เสียชีวิตก็ต้องการการดูแลช่วยเหลือมากขึ้น เป็นภาระมากขึ้นจะเห็นว่าเป็นปัญหาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต
  • โรคกระดูกพรุนมักเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นสะสมในร่างกายมานาน โดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบเพราะไม่มีอาการแต่อย่างใด จนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุกระดูกหัก จึงทำให้คนจำนวนมากไม่ทราบว่าสภาวะกระดูกของตนเองนั้นบางไปมากน้อยเพียงใดแล้ว และไม่ได้สนใจที่จะดูแลป้องกันภาวะกระดูกพรุนอย่างจริงจัง
โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
หญิงวัยหมดประจำเดือน : จะพบว่ามีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียเนื้อกระดูกมากขึ้น 10% ภายใน 5 ปีแรกที่หมดประจำเดือน
อายุ 40 ปี : ร่างกายจะมีการสูญเสียเนื้อกระดูกไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ทั้งในชายและหญิงประมาณ 0.5 – 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
อายุ 50 ปี : ในคนเอเชียพบว่าจะมีการสูญเสียเนื้อกระดูกเพิ่มมากขึ้นเป็น 3 – 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี หลังจากช่วงนี้แล้วอัตราการสูญเสียเนื้อกระดูกจะลดลงเข้าสู่แบบเดิมคือ ประมาณ 0.5 – 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
อาการของโรคกระดูกพรุนเป็นอย่างไร
     ช่วงแรกจะสังเกตไม่เห็นอาการ  แต่หากพบว่าส่วนสูงเริ่มลดลง  มีอาการหลังค่อมต่อมารู้สึกปวดที่กระดูกโดยปวดลึกๆ ที่กระดูก เช่น ที่กระดูกหลังขา  กระดูกจะหักง่ายเมื่อล้ม
ผู้หญิงทุกคนต้องตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกหรือไม่ และจะต้องทำเมื่อไหร่
   ไม่จำเป็นว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องตรวจความหนาแน่นของกระดูก แนะนำให้ตรวจเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ได้แก่
  • ผู้ที่มีประวัติทำงานออฟฟิศทั้งวัน ไม่โดนแดดประจำ
  • ผู้ที่มีโรคที่ทำให้กระดูกบางลง
  • ผู้ที่จะต้องรับยาที่ทำให้มีการสูญเสียเนื้อกระดูกมากกว่าปกติ
  • ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้างในช่วงก่อนหมดประจำเดือน
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการปรึกษา
โทร. 0-2109-1111 , 0-2109-2222
Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.