Bangpakok Hospital

เบาหวานแต่ละชนิด แตกต่างกันอย่างไร

21 พ.ค. 2567

   
   เบาหวานเป็นโรคยอดฮิตที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย โดยจากสถิติของสมาคมโรคเบาหวาน สำหรับประเทศไทยพบอุบัติการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสนคนต่อปี
   แม้จะเป็นโรคที่มีอัตราผู้ป่วยและการเสียชีวิตสูง แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังอาจจะเข้าใจผิดว่า สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน คือการกินหวาน หรือกินน้ำตาลเพียงอย่างเดียว แต่อันที่จริงแล้ว สาเหตุของโรคเบาหวานนั้นมีมากมาย ขึ้นอยู่กับชนิดของเบาหวาน
โรคเบาหวานคืออะไร?
   โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสมรรถภาพ และทำงานล้มเหลว เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตา ไต หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง รวมถึงเป็นแผลง่ายหายยาก ชาปลายมือปลายเท้า
โรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ชนิด ตามสาเหตุการเกิดโรค
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes mellitus, T1DM)
   เป็นโรคเบาหวานที่พบได้แม้ในผู้ที่อายุยังน้อย ไม่ถึง 40 ปี สาเหตุเกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปสู่เซลล์ภายในร่างกายเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน พบได้ราว 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย มักพบในผู้ป่วยที่มีรูปร่างผอม มีอาการปัสสาวะมาก กระหายน้ำบ่อย ดื่มน้ำมาก อ่อนเพลีย น้ำหนักลดเฉียบพลัน อาการอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง บางกรณีพบภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน (Ketoacidosis) ซึ่งในกรณีนี้จำเป็นที่จะต้องทำการฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes mellitus, T2DM)
   ผู้เป็นเบาหวานชนิดนี้ มักมีอายุมากกว่า 40 ปี สาเหตุเนื่องมาจากการที่ร่างกายตอบสนองอินซูลินได้ไม่ดีเท่าที่ควรหรือที่เรียกว่าภาวะดื้ออินซูลินนั่นเอง โดยมักเกิดจากความอ้วน และถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม แต่ก็สามารถทานยารักษาเบาหวานได้ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus, GDM)
   โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) มีแนวโน้มที่จะเกิดในช่วง 24 – 48 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เกิดจากมีภาวะดื้ออินซูลินมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจัยอาจมาจากรก หรืออื่น ๆ และตับอ่อนของมารดาไม่สามารถผลิตอินซูลินให้เพียงพอกับความต้องการได้ สำหรับมารดาที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์และไม่สามารถคุมน้ำตาลได้นั้น จะมีผลให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักตัวมาก หรือภาวะทารกตัวโต (Macrosomia) ทำให้มารดาคลอดแบบปกติยาก หรืออาจเกิดความเสี่ยงในการคลอด อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะหายไปหลังจากคลอดบุตร แต่มารดาจะมีความเสี่ยงสูงที่จะพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และทารกที่เกิดมาจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน และพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เช่นกัน
โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (specific types of diabetes due to other causes)
   โรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน ความผิดปกติของฮอร์โมน การได้รับยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือสารเคมี เป็นต้น
   สำหรับในประเทศไทยเบาหวานที่พบมากที่สุดคือชนิดที่ 2 ประมาณ 90 – 95% ประเภทนี้มักไม่มีอาการอย่างเฉียบพลัน แต่หากขาดการควบคุม ก็สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เป็นอันตรายอย่างเฉียบพลันได้ ดังนั้นควรจะควบคุมน้ำหนัก ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการปรึกษา
โทร. 0-2109-1111 , 0-2109-2222
Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.