Bangpakok Hospital

ใจสั่น วูบบ่อย หัวใจอยากบอกอะไรคุณ

12 ก.พ. 2567


หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นโรคร้ายที่มักเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่หรือกับในผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคร้ายแรงที่เกี่ยวกับหัวใจบางโรคก็สามารถเกิดได้กับเด็กๆ วัยรุ่น หรือวัยทำงานเหมือนกัน อย่างเช่น “โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นทุกคนจึงมีความเสี่ยง เราจึงควรทำความรู้จักและทำความเข้าใจเอาไว้ เพื่อให้สังเกตอาการได้ทัน และเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะคืออะไร ?
     โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด อาทิ โรคหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุหลักๆ เกิดจากความผิดปกติของการนำไฟฟ้าในห้องหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นในจังหวะที่ไม่ปกติ โดยจะเต้นเร็วขึ้นกว่าเดิม เต้นเร็วกว่าที่ควรจะเป็น โดยไม่สัมพันธ์กับกิจกรรมใดๆ กล่าวคือ โดยปกติเวลาเราออกกำลังกาย หัวใจจะค่อยๆ เต้นจากช้าไปเร็ว แต่สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น แม้ว่าคนไข้จะนั่งอยู่เฉยๆ หัวใจก็สามารถเต้นเร็วขึ้นมาได้มากถึง 150 ครั้งต่อนาทีได้
สังเกตอาการแสดงอย่างไร ว่าเสี่ยงภัยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ?
  • ใจสั่น บางรายมีอาการคล้ายกับจะหน้ามืด หรือมีอาการเวียนศีรษะในช่วงเวลาที่ใจสั่น
  • ใจหาย รู้สึกว่าหัวใจเว้นช่วงที่เต้นไปนานผิดปกติ หรือรู้สึกว่าจะหมดสติร่วม
  • วูบหมดสติ โดยไม่ได้มีปัจจัยกระตุ้น โดยมักจะสัมพันธ์กับอาการใจสั่น
  • ใจสะดุด รู้สึกถึงจังหวะการเต้นของหัวใจที่สะดุด และอาจมีอาการวูบหมดสติร่วมด้วย
ทั้งนี้ อาการใจสั่น ใจสะดุด หน้ามืด วูบหมดสติ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องสัมพันธ์กับการออกแรงใดๆ ทั้งสิ้น คือเป็นในขณะที่นั่งพักหรือนอนพักอยู่เฉยๆ ในขณะที่ออกกำลัง หรือช่วงหลังออกกำลังกายไปแล้ว นั่งพักไปประมาณ 5-10 นาทีแล้ว แต่หัวใจยังคงเต้นรัวอยู่ตลอด ในบางรายอาจมีอาการวูบหมดสติไปในขณะออกกำลังกายได้
ตรวจวินิจฉัยอย่างไร ถึงจะทราบว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ?
     เบื้องต้นเมื่อคนไข้มาพบแพทย์ด้วยอาการใจสั่น ใจสะดุด หน้ามืด แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย แล้วดำเนินการตรวจต่าง ๆ เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) , คลื่นสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) , คลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 – 48 ชั่วโมง (24 – 48 hour Holter Monitoring)
Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.