Bangpakok Hospital

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุไม่ควรมองข้าม

5 ก.พ. 2567


     หลายครั้ง สังคมไทยมีความเชื่อที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้สูงวัย โดยมองว่า วัยนี้หรือช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่อยู่ในช่วงวัยเกษียณ เป็นวัยที่ผ่อนคลาย เนื่องจากเสร็จสิ้นจากภารกิจหลาย ๆ ด้าน ทั้งหน้าที่การงานและความรับผิดชอบในครอบครัว ประกอบกับผู้สูงวัยผ่านร้อนผ่านหนาวและมีประสบการณ์มามาก จึงไม่น่าจะมีอะไรที่ทำให้เกิดความทุกข์หรือไม่สบายใจได้ง่าย
 
     ในปัจจุบัน มีผลการศึกษาวิจัยพบว่า มุมมองข้างต้นมีความเข้าใจผิด เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องปรับตัว เพราะความเสื่อมถอยของสุขภาพร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับข้อจำกัดที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ผู้สูงอายุอาจต้องเผชิญกับความสูญเสียหรือการจากลาตามวัยของคนใกล้ชิด สำหรับผู้สูงอายุหลายท่าน การลดลงของบทบาทและความรับผิดชอบที่เคยมีอาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ว่างเปล่าได้ จนทำให้เกิดความสงสัยในคุณค่าของตัวเอง รู้สึกไม่มั่นคงกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทำให้มองอนาคตอย่างหวั่นไหวและหดหู่ตามไปด้วย ซึ่งมุมมองในแง่ลบเหล่านี้จึงเป็นมุมมองความคิดที่เป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า
 
     สัญญาณของภาวะซึมเศร้ายังปรากฏในความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มของอารมณ์ความรู้สึกทางลบ ความรู้สึกที่ไม่มีความสุข การหมดความสนใจในกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เคยชื่นชอบ และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้น้อยลง ทำให้เกิดภาวะนิ่งเฉย ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการนอนหรือรับประทานอาหาร ไม่ว่าจะเป็นนอนหรือรับประทานมากขึ้นหรือน้อยลง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มักทำให้ผู้สูงอายุสามารถรับรู้ จดจำสิ่งต่าง ๆ และประมวลข้อมูลข่าวสารลดลงตามไปด้วย รวมถึงประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจก็ลดลงเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความมั่นใจและการรับรู้คุณค่าในตัวเองน้อยลง จนบางครั้งเกิดความลังเลในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำให้รู้สึกแปลกแยกแตกต่างและเพิ่มการรับรู้ตัวเองในแง่ลบ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย 
 
     หากสังเกตพบผู้สูงอายุใกล้ตัวกำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าอยู่ ในปัจจุบัน มีผลการศึกษาวิจัยชัดเจนว่า มีหลายวิธีที่จะช่วยฟื้นฟูจิตใจผู้สูงอายุที่กำลังประสบภาวะนี้ได้ โดยเริ่มด้วยการเข้าพบผู้ชำนาญการเพื่อขอรับการตรวจประเมินอย่างละเอียดว่า สิ่งที่ผู้สูงอายุกำลังเผชิญอยู่ คือ ภาวะซึมเศร้าหรือไม่ หากใช่ นอกเหนือจากการใช้ยาเพื่อบำบัดรักษาแล้ว ยังมีกระบวนการทางจิตวิทยาที่ช่วยบรรเทาภาวะนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับมุมมองความคิด ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้สูงอายุไม่ต่างจากช่วงวัยอื่น ๆ การสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ เพื่อช่วยตอบโจทย์ความสัมพันธ์ที่ผู้สูงอายุสูญเสียไป หรือการกระตุ้นด้วยการเพิ่มกิจกรรมเพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองมากขึ้น มีความสดชื่นในการใช้ชีวิต วิธีการรักษาเหล่านี้จึงเป็นแนวทางที่สามารถบรรเทาภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัยได้   

 

Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.