หัวข้อ ปวดตา ตาพร่า เสี่ยงเกิดโรคต้อ
เมื่อพูดถึง “โรคต้อ” ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นโรคต้อชนิดใด เพราะมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีลักษณะที่แตกต่างกันโดยส่วนมากมักพบในผู้สูงอายุ แต่วัยทำงานอย่าพึ่งชะล่าใจ เพราะหากไม่ถนอมดวงตาดีๆ ก็อาจเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
ทำความรู้จักกับ “โรคต้อ” ว่ามีชนิดใด
1. ต้อกระจก (Cataract)
เกิดจากเลนส์แก้วตาขุ่น ทำให้แสงผ่านเข้าตาน้อยปัจจัยเสี่ยงคือ อายุที่มากขึ้น ปัจจัยร่วมอื่นๆ ได้แก่การได้รับแสง UV บ่อยๆ หรือแสงแดดจ้ามากๆ การสูบบุหรี่ การใช้สารสเตียรอยด์ รวมถึงโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งทำให้เป็นต้อกระจกเร็วขึ้น และมีอาการมองเห็นเป็นภาพซ้อน ตามัว ตาสู้แสงไม่ได้แต่กลับมองเห็นในที่มืดสลัวๆ มีฝาขาวบริเวณกลางรูม่านตา
วิธีการรักษา
หากผู้ป่วยรู้ตัวตั้งแต่แรกเริ่มว่าเป็นต้อกระจก ในช่วงที่ยังมีอาการเล็กน้อย เลนส์ตายังไม่ขุ่นมาก สามารถรักษาได้โดยใช้ยาหยอดตาทุกวัน (วันละ 3-4 ครั้ง) ทั้งนี้การหยอดตาไม่ได้เป็นการรักษาโรคต้อกระจก เป็นแค่การชะลออาการไม่ให้เลนส์ตาขุ่นเร็วขึ้นเท่านั้น แต่วิธีการรักษาต้อกระจกที่ได้ผลดีที่สุดคือการผ่าตัด โดยวิธีการผ่าตัดต้อกระจกออกและฝังเลนส์เทียม
2. ต้อหิน (Glaucoma)
พบได้น้อยกว่าต้อกระจก แต่เป็นภัยเงียบนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้โดยไม่รู้ตัว สาเหตุเกิดจากความดันลูกตาที่สูงขึ้นจนทำลายประสาทตา ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นต้อหินก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ อายุ การใช้ยาสเตียรอยด์ ภาวะสายตาสั้นมากๆ โรคประจำตัวบางชนิด เช่น เบาหวาน อาการของต้อหินช่วงแรกไม่แสดงอาการจนเริ่มสูญเสียลานสายตา คือการมองเห็นจำกัดวงแคบลง ซึ่งต้อหินแบ่งได้เป็น 4 ชนิด
- ต้อหินชนิดมุมเปิด พบได้บ่อยร้อยละ 60-70 ของทั้งหมด เกิดจากเนื้อเยื่อส่วนที่ทำหน้าที่กรองน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาผิดปกติ ทำให้ความดันลูกตาเพิ่มขึ้นและทำลายขั้วประสาทตาในที่สุด
- ต้อหินชนิดมุมปิด พบได้ร้อยละ 10 ของทั้งหมด เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างลูกตา ทำให้เกิดการอุดกั้นของน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตา กรณีเกิดขึ้นเฉียบพลันจะมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว ปวดศีรษะ เมื่อมองไปที่แสงไฟจะเห็นเป็นวงกลม หรือสีรุ้งรอบดวงไฟ
- ต้อหินในทารกและเด็กเล็ก พบเกิดร่วมกับความผิดปกติตั้งแต่แรกคลอดของดวงตา อาจมีความผิดปกติทางร่างกายร่วมด้วย และโรคนี้อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- ต้อหินชนิดแทรกซ้อน เกิดจากความผิดปกติอย่างอื่นของดวงตา เช่น การอักเสบต้อกระจกที่สุกมาก อุบัติเหตุต่อดวงตา การใช้ยาหยอดตาบางชนิดและการหลังการผ่าตัด เช่น เปลี่ยนกระจกตา หรือการผ่าตัดต้อกระจกที่มีภาวะแทรกซ้อน
วิธีการรักษา
ต้องใช้ยาหยอดตาลดความดันลูกตาอย่างสม่ำเสมอ หรือการใช้เลเซอร์ผ่าตัดตามดุลยพินิจของแพทย์ สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรค วิธีที่การป้องกันอาการต้อหินที่ดีที่สุดคือ ตรวจพบในระยะเริ่มแรก โดยการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปีเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปี โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน
3. ต้อลม (Pinguecula)
เกิดจากความเสื่อมของเยื่อบุตาขาว ที่พบได้บ่อยเป็นก้อนขนาดเล็ก นูน พบที่หัวตามากกว่าหางตา สาเหตุมาจากการได้รับรังสีอัลตร้าไวโอเลตที่อยู่ในแสงแดด การสัมผัสลม ฝุ่น ควัน ความร้อนที่ทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุตาขาว กรณีต้อลมมีขนาดใหญ่หรืออักเสบจะมีอาการเคืองตา แสบตา น้ำตาไหล จะเป็นมากเมื่ออยู่กลางแดด
วิธีการรักษา
ผู้ที่เป็นต้อลมหากมีอาการเคืองตา น้ำตาไหล ตาแดง แพทย์จะให้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองตาและทำให้ตาไม่แดง แต่ยาหยอดตาไม่สามารถทำให้ต้อลมหายไปได้ นอกจากนี้เมื่อมีอาการเคืองตามากไม่ควรซื้อยาหยอดตาใช้เอง เพราะยาบางตัวอาจมีส่วนผสมที่อันตราย ทั้งนี้ต้อลมนั้นไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออกเพราะเป็นเพียงก้อนเนื้อขนาดเล็กๆ ไม่มีอันตรายต่อตาและไม่ใช่โรคร้ายแรง
4. ต้อเนื้อ (Pterygium)
ลักษณะอาการเหมือนต้อลม เพียงแต่มีก้อนเนื้อเป็นรูปสามเหลี่ยมยื่นเข้าไปในตาดำ อาการส่วนใหญ่จะมีตาแดง ระคายเคือง คันตา เห็นภาพไม่ชัด เพราะต้อเนื้อจะค่อยๆ ลุกลามเขาตาดำจนค่อยๆ ปิดรูม่านตา ซึ่งจะปิดบังการมองเห็นทำให้ตามัว หรือทำให้เกิดสายตาเอียง
วิธีการรักษา
จะคล้ายกับผู้ที่เป็นต้อลมคือ หากมีอาการเคืองตา น้ำตาไหล ตาแดง แพทย์จะให้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองตาและทำให้ตาไม่แดง แต่ยาหยอดตาไม่สามารถทำให้ต้อเนื้อหายไปได้ ส่วนวิธีการผ่าตัดแพทย์จะพิจารณาให้รักษาด้วยวิธีนี้ก็ต่อเมื่อต้อเนื้อลุกลามเข้าไปบนกระจกตาขนาดพอสมควร แต่ถ้าเป็นน้อยก็ไม่จำเป็นต้องทำผ่าตัด เพราะต้อเนื้อแม้ไม่ใช่โรคร้ายแรงและในบางรายที่ลอกต้อเนื้อไปแล้ว อาจมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้
สอบถามข้อมูลหรือแพ็กเกจ โรงพยาบาลบางปะกอก 1
แผนก หู ตา คอ จมูก โทร. 0-2109-1111 ต่อ 10433