ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบคุกคามวัยทำงาน
ยิ่งละเลยโรคยิ่งถามหา หลายคนมักคิดว่าในขณะที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ร่างกายย่อมแข็งแรงจึงใช้ชีวิตอย่างเต็มที่แบบไม่ทันระวัง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ความดันโลหิตเป็นแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ซึ่งวัดได้ 2 ค่า ได้แก่
- ความดันโลหิตค่าบน คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวเต็มที่
- ความดันโลหิตค่าล่าง คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายเต็มตัว
ความดันโลหิตสูงคืออะไร?
ความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงผิดปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งอาจไม่แสดงอาการแต่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ไตวาย เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพหรือเสียชีวิต
อาการของโรคความดันโลหิตสูง
- เช็คอาการเบื้องต้น มีอาการเครียดบ่อย เหนื่อยง่าย เพลียง่ายหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต้นแขนต้นขาอ่อนแรง มีอาการปวดหัว ใจสั่น เหงื่อแตกบ่อยๆ เป็นประจำหรือไม่
- เช็คความดันโลหิต ควรตรวจวัดทุกๆ 2 อาทิตย์ หากพบว่ามีความดันโลหิตตัวบนมากกว่า 140 หรือความดันตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 บ่อยๆ แสดงว่ามีความดันโลหิตสูง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
- กินเค็มเป็นประจำ ควรจำกัดโซเดียมไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับเกลือแกง 1 ช้อนชา หากเป็นน้ำปลาหรือซีอิ๊ว ไม่ควรเกิน 3-4 ช้อนชาต่อวัน
- น้ำหนักเกินเกณฑ์ ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดัชนีมวลกายไม่เกิน 23 ผู้ชายรอบเอวไม่เกิน 36 นิ้ว ผู้หญิงไม่เกิน 32 นิ้ว
- ไม่ออกกำลังกาย
- สูบบุหรี่จัด ดื่มสุราหนัก
การรักษาโรคความดันโลหิตสูง ใครที่ไลฟ์สไตล์ที่ทำให้มีความเสี่ยงความดันโลหิตสูง ควรปรับเปลี่ยน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค หากตรวจพบตนเองมีความดันโลหิตสูงบ่อยๆ ไม่ควรละเลยต้องพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย เพื่อหาสาเหตุ เช่น มีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงในร่างกาย หรือไทรอยด์ทำงานผิดปกติ