Bangpakok Hospital

กินขนาดนี้ ย่อยอีกทีเมื่อไหร่

19 มี.ค. 2568


   ระบบย่อยอาหาร มีหน้าที่เปลี่ยนอาหารที่บริโภคเข้าไปให้กลายเป็นพลังงาน เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ รวมทั้งขับกากอาหารหรือของเสียออกนอกร่างกายผ่านทางทวารหนัก โดยอวัยวะในระบบย่อยอาหารประกอบด้วยปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ตับอ่อน ตับ ถุงน้ำดี ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรง และทวารหนัก ซึ่งล้วนทำงานร่วมกันเพื่อให้การย่อยอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อวัยวะต่าง ๆ ในระบบย่อยอาหารมีหน้าที่อะไรบ้าง ?
  • ปาก คือจุดเริ่มต้นของระบบย่อยอาหาร โดยฟันทำหน้าที่บดอาหารให้มีชิ้นเล็กลงและง่ายต่อการย่อย ส่วนน้ำลายทำหน้าที่คลุกเคล้าอาหารให้กลืนง่าย นอกจากนี้ ในน้ำลายยังมีเอนไซม์แอลฟาอะไมเลสที่ช่วยย่อยอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเมื่ออาหารกับน้ำลายคลุกเคล้ากันดีแล้ว ลิ้นและเพดานอ่อนจึงช่วยเคลื่อนอาหารไปยังคอหอยและหลอดอาหารต่อไป
  • คอหอย อาหารที่กลืนลงไปจะเดินทางผ่านคอหอยและส่งต่อไปยังหลอดอาหารซึ่งในระหว่างกระบวนการนี้ หลอดลมจะปิดลงเพื่อป้องกันอาหารหลุดเข้าไปยังปอด
  • หลอดอาหาร เป็นกล้ามเนื้อที่มีลักษณะเป็นท่อกลวงยาวเชื่อมระหว่างคอหอยกับกระเพาะอาหารช่วยส่งอาหารไปยังกระเพาะอาหารด้วยการหดและคลายกล้ามเนื้อเป็นจังหวะ หรือเรียกว่าการบีบตัวแบบเพอริสตัลซิส (Peristalsis) ส่วนบริเวณล่างของหลอดอาหารซึ่งเชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารนั้นมีกล้ามเนื้อหูรูด ทำหน้าที่ป้องกันอาหารและกรดภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร
  • กระเพาะอาหาร อวัยวะลักษณะคล้ายถุงซึ่งมีผนังกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ทำหน้าที่เป็นจุดพักอาหารและคลุกเคล้าอาหาร นอกจากนี้ ยังมีเอนไซม์ช่วยย่อยอาหารให้มีลักษณะกึ่งเหลวก่อนจะส่งต่อไปยังลำไส้เล็ก
  • ลำไส้เล็ก คืออวัยวะลักษณะคล้ายท่อกลวงขดไปมาในช่องท้อง มีความยาวประมาณ 20 ฟุต และเป็นบริเวณที่มีการย่อยและดูดซึมสารอาหารมากที่สุด แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ลำไส้เล็กส่วนต้นหรือดูโอเดนัม (Duodenum) สำไส้เล็กส่วนกลางหรือเจจูนัม (Jejunum) และสำไส้เล็กส่วนปลายหรือไอเลียม (Ileum) โดยมีเอนไซม์จากตับอ่อนมาช่วยย่อยสารอาหารประเภทโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต รวมถึงน้ำดีจากตับที่ช่วยย่อยไขมันและกำจัดของเสียในเลือด
  • ลำไส้ใหญ่ คืออวัยวะลักษณะคล้ายท่อกลวง ยาวประมาณ 5-6 ฟุต ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
  1. ซีกัม (Cecum) หรือลำไส้ใหญ่ส่วนต้น มีลักษณะเป็นถุงปลายตัน อยู่ทางด้านขวาของช่องท้อง
  2. โคลอน (Colon) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ลำไส้ใหญ่ส่วนทอดขึ้นบน (Ascending Colon) หรือส่วนที่ยื่นตรงไปทางด้านบนขวาของช่องท้องจนถึงตับ ลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง (Transverse Colon) พาดผ่านจากด้านขวาไปยังด้านซ้ายของลำตัว และลำไส้ใหญ่ส่วนทอดลงล่าง (Descending Colon) ซึ่งดิ่งตรงลงมาทางช่องท้องด้านซ้าย โดยส่วนปลายที่เชื่อมต่อกับลำไส้ตรงจะขดตัวคล้ายตัวเอส เรียกว่าซิกมอยด์ (Sigmoid Colon)
  3. ลำไส้ตรง (Rectum) เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้ายที่เชื่อมต่อกับทวารหนัก
 
   กากอาหารที่เหลือจากกระบวนการย่อยอาหารในลำไส้เล็กจะถูกส่งมายังลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีหน้าที่ดูดซึมน้ำ วิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารที่ตกค้างกลับเข้าสู่กระแสเลือด โดยกากอาหารจะถูกพักไว้ที่ส่วนซิกมอยด์จนกว่าลำไส้จะบีบตัวเพื่อส่งกากอาหารไปยังลำไส้ตรง จากนั้นลำไส้ตรงจึงส่งสัญญาณไปยังสมองให้ตัดสินใจว่าสามารถขับกากอาหารออกมาได้หรือไม่ หากสมองสั่งการให้ขับกากอาหาร กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักก็จะคลายตัวเพื่อขับกากอาหารออกมาเป็นอุจจาระ
  • ทวารหนัก เป็นอวัยวะสุดท้ายของระบบย่อยอาหาร ประกอบด้วยส่วนหลัก ๆ ดังนี้
  1. กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน มีหน้าที่ควบคุมการกลั้นอุจจาระ
  2. กล้ามเนื้อหูรูดชั้นใน คอยควบคุมไม่ให้เกิดการขับถ่ายขณะนอนหลับ
  3. กล้ามเนื้อหูรูดชั้นนอก เป็นกล้ามเนื้อใต้อำนาจจิตใจ จึงควบคุมการเคลื่อนไหวได้ โดยสามารถคลายกล้ามเนื้อเมื่อต้องการถ่ายอุจจาระ และหดกล้ามเนื้อเพื่อกลั้นอุจจาระ
 
   ระบบย่อยอาหารที่ดี คือการที่อวัยวะต่าง ๆ ภายในระบบย่อยอาหารทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และดูดซึมสารอาหารให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างครบถ้วน การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การติดเชื้อ ความเครียด หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด อาจทำให้ระบบย่อยอาหารเกิดความผิดปกติและส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต การหันมาดูแลระบบย่อยอาหารด้วยการปรับพฤติกรรมเพียงไม่กี่อย่างต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและความผิดปกติในระบบย่อยอาหารได้
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการปรึกษา
โทร. 0-2109-1111 , 0-2109-2222
Go to top
Copyright © 2015 Bangpakok Hospital All rights reserved.